คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8612/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จะให้สิทธิผู้รับประกันภัยบอกล้างโมฆียะกรรมได้แต่สัญญาประกันชีวิตเป็นนิติกรรมสองฝ่าย การบอกล้างโมฆียะกรรมต้องแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 178 เมื่อจำเลยต้องการบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาประกันชีวิตย่อมต้องแสดงเจตนาแก่โจทก์ทั้งสามผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่าย มิใช่เพียงแสดงหลักฐานฝ่ายเดียวว่าตนได้ใช้สิทธิบอกล้างแล้ว การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙ คดีนี้จำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมไปถึงโจทก์ทั้งสามที่จังหวัดพิจิตรทางไปรษณีย์ อันเป็นการแสดงเจตนาแก่บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง การบอกล้างโมฆียะกรรมย่อมมีผลนับแต่เวลาที่หนังสือไปถึงโจทก์ทั้งสาม เมื่อนับจากวันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่การแสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมมีผลในวันที่ 7 หรือ 8 กันยายน 2540 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น การบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้โจทก์ทั้งสาม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 502,505 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 392,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยทราบมูลเหตุที่จะบอกล้างนิติกรรมได้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 จำเลยส่งหนังสือแจ้งบอกล้างนิติกรรมมีตราประทับของไปรษณีย์กลาง ลงวันที่ 4 กันยายน 2540 หนังสือบอกล้างนิติกรรมส่งถึงที่ทำการไปรษณีย์โพทะเล จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2540 และโจทก์ทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 หรือ 8 กันยายน 2540 ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยบอกล้างนิติกรรมภายในกำหนด 1 เดือน ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ หากจำเลยต้องรับผิดขอให้ศาลวินิจฉัยค่าเสียหายให้ตามข้อตกลงในสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 347,700 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญนาค โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนายบุญนาค โจทก์ที่ 3 เป็นมารดาของนายบุญนาค เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 นายบุญนาคได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลย โดยจำเลยสัญญาว่าหากนายบุญนาคเจ็บป่วยและถึงแก่ความตายภายในกำหนดเวลาจำเลยจะจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์เป็นเงิน 300,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์อันพึงได้รับจากการรักษาในโรงพยาบาลและสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวันสำหรับการเข้ารักษาในโรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2540 นายบุญนาคถึงแก่ความตายด้วยโรคไวรัสขึ้นสมองก่อนตายนายบุญนาคเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 17 วัน โจทก์ทั้งสามยื่นคำขอรับประโยชน์ จำเลยได้รับทราบแล้ว จำเลยปฏิเสธการชำระเงินโดยให้เหตุผลว่า นายบุญนาคเคยป่วยเป็นโรคเบาหวานและเคยได้รับการรักษาโรคเบาหวานเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 ก่อนนายบุญนาคยื่นใบคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยตามเวชทะเบียน โดยนายบุญนาคไม่แจ้งให้จำเลยทราบและจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 จำเลยได้มีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมลงวันที่ 21 สิงหาคม 2540 โจทก์ทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 7 หรือ 8 กันยายน 2540 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยได้ใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป” เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะให้สิทธิผู้รับประกันภัยบอกล้างโมฆียะกรรมได้ แต่สัญญาประกันชีวิตเป็นนิติกรรมสองฝ่ายการบอกล้างโมฆียะกรรมต้องแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มี ตัวกำหนดได้แน่นอนตามมาตรา 178 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นนี้เมื่อจำเลยต้องการบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาประกันชีวิต ย่อมต้องแสดงเจตนาแก่โจทก์ทั้งสามให้ทราบมิใช่เพียงแสดงหลักฐานฝ่ายเดียวว่าตนได้ใช้สิทธิบอกล้างแล้วดังที่จำเลยฎีกา และการแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา ตามมาตรา 169 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคดีนี้จำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมไปถึงโจทก์ทั้งสามที่จังหวัดพิจิตรทางไปรษณีย์อันเป็นการแสดงเจตนาแก่บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง การบอกล้างโมฆียะกรรมย่อมมีผลนับแต่เวลาที่หนังสือไปถึงโจทก์ทั้งสามผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนี้ หนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมย่อมมีผลนับแต่วันที่ 7 หรือ 8 กันยายน 2540 ที่โจทก์ทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าว และนับจากวันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้วันที่ 6 สิงหาคม 2540 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้ การบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบ จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ทั้งสามตามสัญญาประกันชีวิต และสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลจำนวน 47,700 บาท เนื่องจากเป็นการรักษาพยาบาลที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเจ็บป่วยที่เป็นมาก่อน นายบุญนาคทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงโดยไม่ติดใจสืบพยานและขอให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมภายใน 1 เดือน ตามกฎหมายหรือไม่ หากจำเลยต้องรับผิดให้วินิจฉัยค่าเสียหายให้ตามข้อตกลงในสัญญา ดังนั้น เมื่อได้ความว่าก่อนตายนายบุญนาคได้เข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นและถึงแก่ความตายด้วยโรคไวรัสขึ้นสมอง จำเลยไม่ได้นำสืบว่านายบุญนาคเป็นโรคดังกล่าวมาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต จึงไม่ใช่โรคเรื้อรังที่เป็นมาก่อนทำสัญญาประกันชีวิตและยังไม่ได้ดำเนินการรักษาให้หายขาดตามข้อยกเว้นการรับผิดจำเลยต้องรับผิดตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์อันพึงได้รับจากการรักษาในโรงพยาบาลและศัลยกรรม และสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวันสำหรับการเข้ารักษาในโรงพยาบาล ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share