คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค่าเช่าแผงลอยค่าโอนแผงลอย ค่าต่อสัญญาเช่าต่างๆ เป็นรายเดือนจากบุคคลหลายราย ในหลายท้องที่ และเรียกเก็บอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี. ในระหว่างนั้นก็ได้ยักยอกเอาเงินที่เรียกเก็บมาได้นั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียในระหว่างวันเวลาสถานที่ดังกล่าวในฟ้อง. ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงลักษณะวิธีการพฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลย.และกล่าวความเกี่ยวกับวันเวลาสถานที่ที่หาว่าจำเลยกระทำผิดพอสมควร ที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว. ไม่ใช่คำฟ้องเคลือบคลุม.
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการเงินขององค์การตลาดให้เป็นไปตามหน้าที่ของจำเลย. การที่จำเลยยักยอกเอาเงินขององค์การตลาดไป. จึงเป็นความผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐกระทำการทุจริตต่อหน้าที่. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502มาตรา 4.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างที่พลทหารปรีชา สิงห์โต จำเลย เป็นพลเรือนอยู่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเก็บเงินขององค์การตลาดมีหน้าที่เก็บเงินและรักษาผลประโยชน์รายได้ขององค์การตลาดตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพื่อนำส่งเงินรายได้ขององค์การตลาดต่อหัวหน้าส่วนการเงินและการบัญชี จำเลยกับนายวรินทร์ พลอยแก้วซึ่งเป็นพนักงานขององค์การตลาดด้วยกัน ได้ร่วมกันใช้อำนาจในหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าตึกแถว ค่าเช่าแผงลอย ค่าต่อสัญญาเช่าต่าง ๆ จากผู้มีชื่อปรากฏตามรายละเอียดตามบัญชีท้ายฟ้องเป็นเงิน 55,860 บาทซึ่งเป็นขององค์การตลาด แล้วจำเลยกับนายวรินทร์ได้ร่วมกันยักยอกเงินดังกล่าวเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ขอให้ลงโทษ และให้จำเลยใช้เงินแก่องค์การตลาด จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4แต่ขณะกระทำผิดจำเลยอายุไม่ครบ 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสามคงจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้จำเลยใช้เงิน 55,860 บาทแก่องค์การตลาด จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้เงินแก่องค์การตลาด 35,860 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีการับไว้พิจารณา โดยที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งมีอยู่2 ข้อ คือ (1) จำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ระบุว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร เมื่อไร ที่ไหน กล่าวความไว้เพียงกว้าง ๆว่ากระทำผิดเป็นเวลา 1 ปี และระบุท้องที่ที่เกิดเหตุไว้ถึง 2 อำเภอ3 ตำบล ข้อนี้เห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเรียกเก็บค่าเช่าแผงลอย ค่าโอนแผงลอย ค่าต่อสัญญาเช่าต่าง ๆ เป็นรายเดือนจากบุคคลหลายราย ในหลายท้องที่ และเรียกเก็บอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ1 ปี ในระหว่างนั้นก็ได้ยักยอกเอาเงินที่เรียกเก็บได้มานั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียในระหว่างวันเวลา สถานที่ดังกล่าวนั้นด้วยดังนี้ เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงลักษณะวิธีการ พฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลย และกล่าวความเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ที่หาว่าจำเลยกระทำผิดพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วไม่ใช่คำฟ้องเคลือบคลุม (2) จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานชั้นผู้น้อย มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายวรินทร์ผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นผู้กระทำผิดในคดีนี้ จำเลยจึงมิใช่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ อันจะต้องมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่า ค่าโอนและค่าต่อสัญญาแผงลอยขององค์การตลาด แล้วต้องเอาเงินนั้นมอบแก่นายวรินทร์ เพื่อนำมอบหัวหน้าส่วนการเงินและการบัญชี แต่จำเลยได้ร่วมกับนายวรินทร์ยักยอกเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังนี้ได้ชื่อว่าจำเลยมีหน้าที่จัดการเงินขององค์การตลาดให้เป็นไปตามหน้าที่ของจำเลย การที่จำเลยยักยอกเอาเงินขององค์การตลาดไปจึงเป็นความผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐกระทำการทุจริตต่อหน้าที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย.

Share