คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8563/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำร้องของจำเลยขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้อำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่รับโอนคดีนี้จากศาลแพ่ง โดยกล่าวอ้างว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบในการรับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา มิใช่กรณีคู่ความเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 3 กำหนดไว้ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 27 มาใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติถึงกรณีที่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบว่า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อศาลเห็นสมควร หมายถึง กรณีที่ศาลเห็นถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเองก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาได้โดยไม่ต้องมีคำร้องจากคู่ความแต่อย่างใด กรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เป็นกรณีที่เกิดจากความประสงค์ของคู่ความนั้นที่ต้องการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณา โดยกรณีนี้คู่ความผู้ยื่นคำร้องจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 วรรคสอง กล่าวคือต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่คู่ความนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามคำร้องของจำเลยขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ได้รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณา โดยจำเลยอ้างว่าเป็นการโอนและรับโอนคดีที่ไม่ชอบ เป็นกรณีที่จำเลยประสงค์จะให้มีการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นเอง จึงยื่นคำร้องฉบับนี้ต่อศาล อันเป็นกรณีที่คู่ความร้องขอตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องภายในกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรคสอง แล้ว และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันนัดพร้อม ซึ่งทนายจำเลยเข้าร่วมดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับโอนคดีนี้จากศาลแพ่งและดำเนินการนัดสืบพยานจำเลยต่อไป ทนายจำเลยแถลงขอสืบพยานบุคคลที่เหลืออีก 3 ปาก แสดงว่า จำเลยได้ทราบว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ไว้ในวันนัดพร้อมแล้ว จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในวันนั้น ทั้งยังกลับขอดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไปอีกด้วย ต่อมาจำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่รับโอนคดีไว้ อันเป็นการยื่นคำร้องเกินกว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ไว้แล้ว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง
สัญญารับขนของทางทะเลระหว่างบริษัท จ. ผู้ส่งสินค้ากับจำเลยในคดีนี้ เป็นการขนส่งสินค้าโดยมีการออกใบตราส่ง จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งซึ่งมีชื่อโจทก์ระบุในใบตราส่ง แม้ในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่ง ผู้ส่งสินค้าอาจสั่งให้ผู้ขนส่งจัดการแก่สินค้าเป็นประการอื่น นอกจากการส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งได้ แต่ต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดให้ไว้แก่ผู้ขนส่ง หากผู้ขนส่งจัดการไปตามคำสั่งของผู้ส่งสินค้าโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดแล้ว ผู้ขนส่งก็ยังต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งมีใบตราส่งฉบับที่ไม่ได้เวนคืนตามมาตรา 36 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่ตามหนังสือแจ้งของผู้ส่งสินค้ามีใจความเพียงว่า ผู้ส่งสินค้าตกลงให้จำเลยผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง (Consignee) โดยไม่ต้องเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งเท่านั้น ซึ่งผู้รับตราส่งก็หมายถึงโจทก์ ไม่ใช่บริษัท ย. และไม่ปรากฏว่าได้มีการเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดให้แก่จำเลยผู้ขนส่ง การที่จำเลยส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัท ย. โดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่ง จึงไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ส่งสินค้าและไม่ใช่กรณีที่ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 36 แต่เป็นกรณีที่จำเลยผู้ขนส่งปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับตราส่งในความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำของจำเลย
มาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2539 ผู้ขนส่งต้องรับผิดในจำนวนเงินจำกัดตามข้อจำกัดไว้เฉพาะกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดเนื่องจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า โดยเหตุแห่งความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ข้อเท็จจริงคดีนี้ความว่า จำเลยผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัท ย. ซึ่งไม่ใช่ผู้รับตราส่งไปโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่ง ทำให้โจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขนส่งที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ใช่กรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหายหรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้รับตราส่งเต็มตามจำนวนความเสียหาย โดยไม่ได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดตามบทบัญญัติมาตรา 58
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้ขายสินค้าในประเทศมาเลเซียได้ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าไม้จากประเทศมาเลเซียโดยทางเรือมายังประเทศไทย โดยจำเลยได้ระบุในใบตราส่งว่า โจทก์เป็นผู้รับตราส่ง แต่เมื่อสินค้ามาถึงปลายทางในประเทศไทยแล้วจำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ย. ไปโดยมิได้มีการเวนคืนใบตราส่ง ตามคำฟ้องแสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งและมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ผู้รับตราส่งโดยมีการเวนคืนใบตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญา โดยส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้รับตราส่ง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะระบุในคำฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องให้เห็นถึงการกระทำของจำเลยโดยละเอียด อันมีลักษณะทั้งเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาและละเมิดด้วย ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะนำบทกฎหมายเรื่องใดมาบังคับใช้กับข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความ ข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยก็ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งผู้มีสิทธิในสินค้าที่ขนส่งในความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นความรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเล แต่ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า อันจำเลยผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ซึ่งจะมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวและความรับผิดของจำเลยที่ปฏิบัติผิดสัญญารับขนของทางทะเลในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีมาจากศาลแพ่ง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 5,416,441.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งในชั้นสืบพยานจำเลย ศาลแพ่งได้เสนอปัญหาว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย และประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับโอนคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 5,416,441.98 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 กันยายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 80,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต เพื่อประกอบการสั่งซื้อสินค้าไม้และชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายสินค้าในประเทศมาเลเซีย โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของบริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด และแจ้งเครดิตไปยังผู้ขายสินค้า ผู้ขายสินค้าว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้านั้นทางเรือจากประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทย โดยจำเลยออกใบตราส่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับตราส่ง เมื่อผู้ขายสินค้านำใบตราส่งและเอกสารต่าง ๆ ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตมายื่นต่อโจทก์เพื่อขอรับเงิน โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าไปแล้วเป็นจำนวน 497,972.05 ริงกิต เมื่อมีการขนส่งสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยส่งมอบสินค้านั้นให้แก่บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด โดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่ง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้จากศาลแพ่งนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบหรือไม่ ปรากฏตามสำนวนว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 ศาลแพ่งมีคำสั่งรับฟ้องและได้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จนเสร็จ ต่อมาระหว่างสืบพยานจำเลย ศาลแพ่งเห็นว่ากรณีมีปัญหาว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงเสนอปัญหาให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับโอนคดีไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2544 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อจากที่ศาลแพ่งได้สืบพยานจำเลยไปบ้างแล้ว ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 จำเลยจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีจากศาลแพ่ง เนื่องจากเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งในคำร้องของจำเลยว่า “สำเนาให้โจทก์ รอไว้รวม วินิจฉัยในคำพิพากษา” และได้วินิจฉัยคำร้องนี้ในคำพิพากษาว่า จำเลยยื่นคำร้องนี้เมื่อพ้นกำหนด 8 วัน นับแต่จำเลยได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลที่จะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้อำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่รับโอนคดีนี้จากศาลแพ่งไว้พิจารณาโดยผิดระเบียบเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง มิใช่กรณีที่จำเลยยื่นคำร้องนี้ตามมาตรา 27 วรรคสอง จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลย จำเลยกล่าวอ้างว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบในการรับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา ซึ่งมิใช่กรณีคู่ความเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 3 กำหนดไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 มาใช้บังคับ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติถึงกรณีที่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบว่า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วนนั้น กรณีที่ว่า เมื่อศาลเห็นสมควร หมายถึงกรณีที่ศาลเห็นถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเองก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาได้โดยไม่ต้องมีคำร้องจากคู่ความแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เป็นกรณีที่เกิดจากความประสงค์ของคู่ความนั้นที่ต้องการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณา โดยกรณีนี้คู่ความผู้ยื่นคำร้องจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 วรรคสอง กล่าวคือต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่คู่ความนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 ที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ได้รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณา โดยจำเลยอ้างว่าเป็นการโอนและรับโอนคดีที่ไม่ชอบนั้น เป็นกรณีที่จำเลยประสงค์จะให้มีการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นเอง จึงยื่นคำร้องฉบับนี้ต่อศาล อันเป็นกรณีที่คู่ความร้องขอตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องภายในกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรคสอง แล้ว และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันนัดพร้อมวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งทนายจำเลยเข้าร่วมดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับโอนคดีนี้จากศาลแพ่งและดำเนินการนัดสืบพยานจำเลยต่อไป ทนายจำเลยแถลงขอสืบพยานบุคคลที่เหลืออีก 3 ปาก แสดงว่า จำเลยได้ทราบว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ไว้ในวันนัดพร้อมดังกล่าวแล้ว ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในวันนั้น ทั้งยังกลับขอดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไปอีกด้วย ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 จำเลยจึงเพิ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่รับโอนคดีไว้ อันเป็นการยื่นคำร้องเกินกว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ไว้แล้ว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่จำเลยได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด หรือไม่ โดยจำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด ไปโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งนั้น เป็นการปฏิบัติตามหนังสือแจ้งของผู้ส่งสินค้าซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างบริษัทเจ.วูด จำกัด ผู้ส่งสินค้ากับจำเลยในคดีนี้ เป็นการขนส่งสินค้าโดยมีการออกใบตราส่ง จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง ซึ่งมีชื่อระบุในใบตราส่งซึ่งก็คือโจทก์ แม้ในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่ง ผู้ส่งสินค้าอาจสั่งให้ผู้ขนส่งจัดการแก่สินค้าเป็นประการอื่นนอกจากการส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งได้ แต่ต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดให้ไว้แก่ผู้ขนส่ง หากผู้ขนส่งจัดการไปตามคำสั่งของผู้ส่งสินค้าโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดแล้ว ผู้ขนส่งก็ยังต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งมีใบตราส่งฉบับที่ไม่ได้เวนคืนตามมาตรา 36 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่ตามหนังสือมีใจความเพียงว่า ผู้ส่งสินค้าตกลงให้จำเลย ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง (Consignee) โดยไม่ต้องเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งเท่านั้น ซึ่งผู้รับตราส่งก็หมายถึงโจทก์ ไม่ใช่บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด และไม่ปรากฏว่าได้มีการเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดให้แก่จำเลยผู้ขนส่ง การที่จำเลยส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด โดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่ง จึงไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ส่งสินค้าและไม่ใช่กรณีที่ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 36 แต่เป็นกรณีที่จำเลยผู้ขนส่งปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับตราส่งในความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำของจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ต้องอยู่ในจำนวนจำกัดตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 58 ผู้ขนส่งต้องรับผิดในจำนวนเงินจำกัดตามข้อจำกัดไว้เฉพาะกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดเนื่องจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า โดยเหตุแห่งความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า จำเลยผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้รับตราส่งไปโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่ง ทำให้โจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขนส่งที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ใช่กรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหายหรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้าดังกล่าว ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้รับตราส่งเต็มตามจำนวนความเสียหาย โดยไม่ได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดตามบทบัญญัติมาตรา 58 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อสุดท้ายว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า ผู้ขายสินค้าในประเทศมาเลเซียได้ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าไม้จากประเทศมาเลเซียโดยทางเรือมายังประเทศไทย โดยจำเลยได้ระบุในใบตราส่งว่า โจทก์เป็นผู้รับตราส่ง แต่เมื่อสินค้ามาถึงปลายทางในประเทศไทยแล้วจำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด ไปโดยมิได้มีการเวนคืนใบตราส่ง ซึ่งตามคำฟ้องดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งและมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ผู้รับตราส่งโดยมีการเวนคืนใบตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญา โดยส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้รับตราส่ง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะระบุในคำฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องให้เห็นถึงการกระทำของจำเลยโดยละเอียด อันมีลักษณะทั้งเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาและละเมิดด้วย ซึ่งศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่า จะนำบทกฎหมายเรื่องใดมาบังคับใช้กับข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความ เมื่อตามข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยก็ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งผู้มีสิทธิในสินค้าที่ขนส่งในความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นความรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเล แต่ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า อันจำเลยผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ซึ่งจะมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและความรับผิดของจำเลยที่ปฏิบัติผิดสัญญารับขนของทางทะเลในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ปรากฏตามสำนวนว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเป็นเงินเท่ากับจำนวนเงินค่าสินค้าที่โจทก์ได้ชำระแก่ผู้ขายสินค้าแทนบริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด ไปจำนวน 497,972.05 ริงกิต จำนวนหนี้เงินต่างประเทศจำนวนนี้จึงเป็นจำนวนหนี้ที่แท้จริงที่โจทก์มีสิทธิได้รับชำระจากจำเลย ดังนั้นศาลย่อมพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้เป็นเงินไม่เกินจำนวน 497,972.05 ริงกิต ส่วนที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินไทยจำนวน 5,416,441.98 บาท นั้น โจทก์คิดคำนวณจากต้นเงินค่าเสียหายที่แท้จริงเป็นเงินริงกิตจำนวนดังกล่าวเป็นเงินไทยโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันก่อนวันฟ้อง อัตรา 1 ริงกิต เท่ากับ 10.877 บาท โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการคิดคำนวณทุนทรัพย์เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่โจทก์จะแปลงหนี้ค่าเสียหายจำนวน 497,972.05 ริงกิต เป็นเงินไทยจำนวน 5,416,441.98 บาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวได้แต่อย่างใด ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จำเลยมีสิทธิชำระหนี้เงินต่างประเทศเป็นเงินไทยได้ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในเวลาที่ชำระเงินจริง ซึ่งหากขณะที่จำเลยชำระหนี้หลังจากศาลพิพากษาคดีแล้วหรือถูกบังคับคดีถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ริงกิต แลกเป็นเงินบาทได้ต่ำกว่า 10.877 บาท ตามอัตราที่โจทก์ใช้คิดคำนวณไว้ในคำฟ้อง จำเลยย่อมสามารถชำระหนี้เงินจำนวน 497,982.05 ริงกิต โดยชำระด้วยเงินบาทเป็นจำนวนต่ำกว่า 5,416,441.98 บาท ตามคำขอของโจทก์ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 5,416,441.98 บาท ทั้งที่จำเลยอาจต้องชำระเงินจำนวนต่ำกว่านี้ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังปรากฏตามคำฟ้องว่า หนี้เงินค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระแก่โจทก์มีมูลเหตุจากการที่บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตด้วย ซึ่งเป็นหนี้ที่โจทก์อาจบังคับชำระหนี้เอาจากบริษัทดังกล่าวอีกทางหนึ่ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี ไม่ให้เกิดปัญหาการบังคับชำระหนี้ซ้ำซ้อนกัน จึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขเสียให้ชัดเจนเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 497,982.05 ริงกิต พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจะชำระเป็นเงินบาทให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในเวลาชำระเงินแต่ต้นเงินต้องไม่เกินจำนวน 5,416,441.98 บาท ตามคำฟ้องและหากโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินที่โจทก์ต้องจ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตอันเป็นมูลเหตุแห่งหนี้ค่าเสียหายคดีนี้จากผู้ต้องรับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วเท่าใด ก็ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ค่าเสียหายตามคำพิพากษานี้จากจำเลยได้ลดลงตามนั้นด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 20,000 บาท

Share