คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15794/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 333/2551 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สิน เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ไม่มีข้อกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด ส่วนในข้อ 14 ของคำสั่งดังกล่าวที่ว่า “ในกรณีมีการขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สิน หากผู้ซื้อประสงค์จะได้รับเงินคืน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินแก่ผู้ซื้อ โดยเหลือไว้ร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อขาย” เป็นเรื่องการขอคืนเงิน มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเงินจากผู้ซื้อทรัพย์เพิ่มเติมให้ครบร้อยละ 5.5 ประกอบกับคู่มือการนำระเบียบ คำสั่ง กฎหมาย มาใช้กับการบังคับคดีแพ่งได้ให้คำอธิบายว่า “กรณีมีผู้ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ผู้ซื้อไม่ต้องวางเงิน หากมีการชำระราคาครบถ้วนหรือวางมัดจำเกินร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อขาย ให้คืนเงินส่วนเกิน คงเหลือไว้ร้อยละ 5.5” ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอชะลอการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายตลาดที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาที่ดินที่ซื้อได้ จึงไม่ชอบ เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อดังกล่าวได้ ส่วนการที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชำระเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งริบเงินมัดจำ จำนวน 2,000,000 บาท แล้วประกาศให้ขายทอดตลาดใหม่นั้น ระเบียบกรมบังคับคดีข้อ 12 กำหนดว่า กรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจริบมัดจำ แต่กรณีนี้ไม่ใช่เป็นการชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือ แต่เป็นกรณีเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อ จึงหมายความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจริบเงินมัดจำ หากเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระราคาส่วนที่เหลือ แล้วไม่ปฏิบัติตาม เมื่อกรณีนี้มีการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด แล้วผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิขอคืนเงินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 14 ทั้งยังไม่แน่นอนว่า เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์จะได้ซื้อทรัพย์ตามที่ประมูลหรือไม่ จึงไม่มีเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำของผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าว คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำและสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 12806 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร กึ่งหนึ่ง และที่ดินโฉนดเลขที่ 11358 ตำบลพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร กึ่งหนึ่ง พร้อมอาคารเลขที่ 80 เฉพาะบนที่ดินหนึ่งในสี่ และหุ้นที่นายพูลชัยผู้ตาย เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวน 37.8 หุ้น และหุ้นในโรงพยาบาลจำเลยที่ 4 จำนวน 3 หุ้น ให้แก่โจทก์ หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้นำทรัพย์ทั้งหมดออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงแบ่งทรัพย์กันไม่ได้ โจทก์จึงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลง
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 12806 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 55,170,000 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินโฉนดเลขที่ 11358 ตำบลพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 102,800,000 บาท โดยผู้ซื้อทรัพย์วางเงินมัดจำ แปลงละ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาที่ดิน
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งงดการขายทอดตลาดในวันที่ 9 และ 17 ธันวาคม 2553 ตามคำร้องของจำเลยที่ 4 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากขายทอดตลาดอีกต่อไป ต้องดำเนินการส่งประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยทั้งหมดและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้โจทก์และจำเลยทั้งสี่ทราบทำให้การขายทอดตลาดวันที่ 9 และ 17 ธันวาคม 2553 ไม่มีใครไปดูแลการขายทอดตลาดเพราะเข้าใจว่า ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น การขายทอดตลาดจึงเป็นไปโดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลง ปรากฏตามคำร้อง ลงวันที่ 17 และ 28 ธันวาคม 2553
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้สั่งให้งดการขายทอดตลาดในวันที่ 9 และ 17 ธันวาคม 2553 คงให้ขายไปตามประกาศกำหนดเดิม การขายทอดตลาดในวันดังกล่าว จึงมิใช่การประกาศขายใหม่ ไม่จำต้องส่งประกาศขายทอดตลาดใหม่ให้โจทก์และจำเลยทั้งสี่ทราบอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงโดยชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอชะลอการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ เนื่องจากมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ แต่ผู้ซื้อทรัพย์ต้องวางเงินไว้ร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อได้ ตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 333/2551 จึงมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินเพิ่มเพื่อให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12806 จำนวน 2,034,350 บาท ภายในวันที่ 24 มีนาคม 2554 และที่ดินโฉนดเลขที่ 11358 จำนวน 4,654,000 บาท ภายในวันที่ 1 เมษายน 2554 แต่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ดำเนินการ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งริบเงินมัดจำ 2,000,000 บาท และให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียกเลิกการขายทอดตลาดและประกาศขายใหม่แล้ว จึงไม่ต้องสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินเพิ่มสำหรับราคาที่ดินทั้งสองแปลงนั้น ขัดต่อคำสั่งกรมบังคับคดี ที่กำหนดว่า กรณีมีการขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ต้องวางเงินเพิ่ม หมายถึง กรณียังไม่มีการวางเงิน ก็ไม่ต้องวางเงิน หาได้หมายถึงการวางมัดจำไม่ เพราะการวางมัดจำมิใช่การชำระราคาและเมื่อผู้ซื้อทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานบังคับคดีก็สั่งริบมัดจำ 2,000,000 บาท ที่ผู้ซื้อทรัพย์วางไว้และให้นำที่ดินทั้งสองแปลงออกขายทอดตลาดใหม่ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งริบมัดจำของเจ้าพนักงานบังคับคดีและสั่งคืนมัดจำ เป็นเงิน 2,000,000 บาท แก่ผู้ซื้อทรัพย์
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 333/2551 ข้อ 12 กรณีที่เคาะไม้ขายทอดตลาดให้แก่ผู้เสนอให้ราคาสูงสุดแล้ว ต่อมาผู้ซื้อไม่ชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด ให้มีคำสั่งริบมัดจำได้ทันที เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการโดยชอบแล้วขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิริบมัดจำ 2,000,000 บาท ได้โดยชอบ ยกคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์
จำเลยทั้งสี่และผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่และผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งริบเงินมัดจำ 2,000,000 บาท ของผู้ซื้อทรัพย์ และมีคำสั่งให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องลงวันที่ 23 มีนาคม 2554 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอชะลอการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ โดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่าให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินเพิ่มให้ครบเป็นจำนวนร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อได้เสียก่อน แล้วจึงอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์ขยายเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุดเรื่องการเพิกถอนการขายทอดตลาด เห็นว่า ตามระเบียบของกรมบังคับคดีที่ 333/2551 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สิน นั้น เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ไม่มีข้อกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดี เรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด หลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำมาอ้างเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินเพิ่มร้อยละ 5.5 ของราคาขาย คือ ในข้อ 14 ของคำสั่งดังกล่าว ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่มีการร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สิน หากผู้ซื้อประสงค์ที่จะได้รับเงินคืน และผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดหรือสาขาแล้วแต่กรณี มีคำสั่งให้คืนเงินแก่ผู้ซื้อ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินแก่ผู้ซื้อโดยเหลือไว้ร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อขาย” เมื่อพิจารณาแล้วคำสั่งข้อ 14. เป็นเรื่องการขอเงินคืน มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเงินจากผู้ซื้อทรัพย์เพิ่มเติมให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาขาย จึงเป็นคนละกรณีกัน ทั้งปรากฏในคู่มือการนำระเบียบ คำสั่ง กฎหมาย มาใช้กับการบังคับคดีแพ่งของกรมบังคับคดี หน้า 37 ได้ให้คำอธิบายกรณีมีผู้ร้องเพิกถอนการขายทอดตลาดว่า ผู้ซื้อไม่ต้องวางเงินและหากมีการชำระราคาครบถ้วนหรือวางมัดจำเกินร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อขาย ให้คืนเงินส่วนเกินคงเหลือไว้ร้อยละ 5.5 คู่มือดังกล่าว ได้จัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบังคับคดีแพ่งเพื่อให้เจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีถือปฏิบัติ ย่อมเป็นการอธิบายขยายความคำสั่งของกรมบังคับคดีดังกล่าว เชื่อว่าผู้จัดทำคู่มือย่อมจัดทำขึ้นได้ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการออกคำสั่งกล่าว ส่วนกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจริบมัดจำของผู้ซื้อทรัพย์นั้น ได้กำหนดไว้ในข้อ 12. ว่า เป็นกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด แต่กรณีนี้ไม่ใช่เป็นการชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือทั้งหมด แต่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อได้ ดังนั้น ตามระเบียบของกรมบังคับคดี ข้อ 12. จึงน่าจะมีความหมายว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจริบเงินมัดจำ หากเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือทั้งหมดแล้วผู้ซื้อทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามเท่านั้น แต่เมื่อมีการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิขอเงินคืนได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 14. ทั้งยังไม่แน่นอนว่า เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์จะได้ซื้อทรัพย์ตามที่ประมูลได้หรือไม่ จึงไม่มีเหตุที่จะเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระราคาเพิ่มอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ริบเงินมัดจำและสั่งให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่นั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้เมื่อวันที่ 9 และ 17 ธันวาคม 2553 ชอบหรือไม่ แม้ปัญหาข้อนี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย เพราะเห็นว่าเมื่อผู้ซื้อทรัพย์ไม่วางเงินตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ริบเงินมัดจำและสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาดังกล่าวอีก แต่เมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งริบเงินมัดจำและสั่งขายทอดตลาดใหม่ไม่ชอบแล้ว เพื่อมิให้คดีชักช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไป จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ก่อนจะมีการขายทอดตลาด จำเลยที่ 4 (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ขอให้ระงับการทอดตลาด โดยเหตุผลว่า ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาดนั้น มิใช่เป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 2 แต่เป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 4 และในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดแล้ว ทำให้จำเลยทั้งสี่เข้าใจโดยสุจริต ไม่ได้ไปในวันประมูล ทำให้สูญเสียโอกาสในการเข้าประมูลซื้อทรัพย์คืน เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ระงับการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า เนื่องจากผู้ร้อง (จำเลยที่ 4) เคยยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานวันนี้ ก็เป็นเหตุผลเดียวกับคำร้องขัดทรัพย์ ให้ผู้ร้องคัดคำสั่งศาลในคำร้องลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 มายื่นต่อเจ้าพนักงานก่อนเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้มีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดดังที่จำเลยทั้งสี่อ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ก็ย่อมแสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้มีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่จึงไม่มีเหตุผลและไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสี่จะอ้างว่าเข้าใจโดยสุจริตทำให้ไม่ได้ไปสถานที่ที่มีการขายทอดตลาดจึงไม่ได้เข้าร่วมการประมูล ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ไม่มีเหตุผลที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยทั้งสี่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำและสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่ โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือทั้งหมดมาชำระตามระเบียบของกรมบังคับคดีและดำเนินการต่อไป ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าทนายความทั้งสามชั้นศาลเป็นเงิน 70,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share