แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่าจำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งทนายความให้ตลอดมาจนกระทั่งสืบพยานจำเลยเสร็จ แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้จำเลย ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบกระบวนพิจารณานั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยยื่นคำร้องว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจะรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ ขอให้งดเพิ่มโทษ โดยจำเลยยื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้น อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 และก่อนที่จำเลยจะยื่นฎีกา เมื่อคำร้องดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี มิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลล่างที่มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่และไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว หากศาลชั้นต้นสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240, 265, 334, 335 (1) วรรคแรก ฐานปลอมเงินตรา จำคุก 12 ปี ฐานปลอมเอกสารราชการ จำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 24 กระทง จำคุก 24 ปี รวมทุกกระทงจำคุก 36 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 48 ปี 8 เดือน จำเลยรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 คงจำคุก 24 ปี 4 เดือน ริบของกลาง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 348,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
คดีอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 จำเลยยื่นคำร้องว่า ในวันสอบคำให้การจำเลยแถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่มีทนายความ ขอให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยแต่ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งทนายความให้จำเลยและทำการสืบพยานโจทก์ไป จำเลยได้โต้แย้งต่อศาลชั้นต้นตลอดมา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฟัง และสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จ อันมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิจารณาพิพากษาคดีของจำเลยใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่อีก ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2550 ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยไม่ต้องการทนายความและขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง จำเลยลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยไม่คัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาว่าไม่ถูกต้อง ต่อมามีการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้าน ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสองแล้ว ให้ยกคำร้องและให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
จำเลยฎีกาคำสั่งที่ให้ยกคำร้องขอพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีของจำเลยใหม่หรือไม่ เห็นว่า คำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 อ้างว่า ในวันสอบคำให้การ จำเลยแถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่มีทนายความ ขอให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยแต่ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งทนายความให้จำเลยและทำการสืบพยานโจทก์ไป โดยจำเลยได้โต้แย้งต่อศาลชั้นต้นตลอดมา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฟัง และสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จอันมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิจารณาและพิพากษาคดีของจำเลยใหม่ ดังนี้ คำร้องของจำเลยดังกล่าวพอแปลเจตนารมณ์ได้ว่า จำเลยประสงค์ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบที่ศาลชั้นต้นไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เมื่อปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่า จำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้จำเลยตลอดมาจนกระทั่งสืบพยานจำเลยเสร็จ แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้จำเลยซึ่งหากจำเลยเห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง แล้ว จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบกระบวนพิจารณานั้น แต่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 จึงล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม 2552 ว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจะรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ โทษที่โจทก์นำมาเป็นเหตุเพิ่มโทษซึ่งจำเลยได้กระทำความผิดก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วตั้งแต่ปี 2546 จึงถูกลบล้างไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้งดเพิ่มโทษให้แก่จำเลย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลรับฎีกาคำสั่งของจำเลยแล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 จำเลยยื่นคำร้องมีลักษณะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฎีกา โดยยื่นภายในกำหนดเวลาที่ขอขยาย จึงรับเป็นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 และก่อนที่จำเลยจะยื่นฎีกา เมื่อคำร้องของจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลล่างทั้งสองที่มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่และไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว หากศาลชั้นต้นสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้าง และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงเห็นควรวินิจฉัยและมีคำสั่งคำร้องของจำเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อน เห็นว่า แม้ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ฐานรับของโจรของศาลชั้นต้น และจำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ตาม แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้
พิพากษายืน โดยไม่เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุกจำเลย 36 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 18 ปี 3 เดือน