คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในรายละเอียดว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์จำเลย หรือจำเลยร่วม แต่เป็นที่สาธารณะประโยชน์ ที่วินิจฉัยดังกล่าวเพราะอาศัยพยานเอกสารในสำนวน ถือว่าศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยชี้ขาดตรงประเด็นแล้ว การที่จำเลยขาดนัดพิจารณาไม่มาศาลย่อมทำให้เสียประโยชน์คือ ไม่มีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ที่สืบไปแล้วในวันที่จำเลยไม่มาศาลเท่านั้น และหากว่าโจทก์สืบพยานหมดในวันนั้น จำเลยก็ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบได้ในวันหลังอีก เพราะหมดเวลาที่จำเลยจะนำพยานเข้าสืบแล้ว แต่คดีนี้โจทก์นำพยานเข้าสืบในวันนัดแรกเพียงปากเดียวการสืบพยานยังไม่เสร็จบริบูรณ์ แล้วเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ที่เหลือในนัดต่อไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิถามค้านพยานปากที่เบิกความไปแล้วเท่านั้นส่วนในนัดต่อไปจำเลยมาศาล จำเลยชอบที่จะถามค้านพยานโจทก์ที่เบิกความในนัดต่อมาได้ และนำพยานจำเลยเข้าเบิกความได้ เพราะยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ แม้จำเลยร่วมไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานโจทก์ 3 วันแต่จำเลยร่วมว่าความด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจให้จำเลยร่วมนำพยานเข้าสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า 1 แปลงเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองขอน หมู่ที่ 11 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา โจทก์ครอบครองมาเป็นเวลา 50 ปีเศษแล้ว เมื่อปี2526 จำเลยได้อาศัยโจทก์ทำประโยชน์ในที่พิพาทดังกล่าว โดยให้สัญญาว่าจะออกไปภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2527 ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาทเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ปีละ 10,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่พิพาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 10,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่พิพาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยจำเลยได้มาโดยเสียค่าตอบแทนจากบุคคลภายนอก ได้ครอบครองมาด้วยความสงบและเปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลานับ 10 ปี จำเลยไม่เคยอาศัยสิทธิโจทก์ ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการมอบอำนาจกระทำกันหลังการฟ้องคดี และโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนการชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายผจญ กิจโกศลเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยร่วมโดยมีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินเป็นหลักฐานคือ ใบเหยียบย่ำที่ดินเล่ม 1 หน้า 25 สารบบเล่ม 3 ก. หน้า 36 หมู่ที่ 11 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมาออกให้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2492 จำเลยร่วมไม่เคยรู้จักโจทก์หรือจำเลยมาก่อน
หลังจากที่จำเลยร่วมยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่าการที่นายผจญ กิจโกศล จำเลยร่วมได้ขอรังวัดออกโฉนดที่พิพาทโดยอ้างว่าเป็นของตน เป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดนครราชสีมา ความจริงจำเลยร่วมไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้เป็นเจ้าของที่พิพาท ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่และห้ามจำเลยร่วมและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทต่อไปและให้บังคับให้จำเลยร่วมถอนคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินจากเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาเสีย จำเลย จำเลยร่วมไม่ค้านและไม่ขอยื่นคำให้การเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่พิพาท พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยและจำเลยร่วมถึงแก่กรรมศาลฎีกามีคำสั่งตั้งนางแฉล้ม ชาติงาม และนายรัฐพล กิจโกศลเป็นคู่ความแทนจำเลยและจำเลยร่วมตามลำดับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ ดังนี้
ประการแรก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยคดีนอกประเด็นหรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประโยชน์ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะคดีไม่มีประเด็นว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประโยชน์หรือไม่ เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์โจทก์อุทธรณ์ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยในรายละเอียดว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ จำเลย หรือจำเลยร่วม แต่เป็นที่สาธารณะประโยชน์ ที่วินิจฉัยดังกล่าวเพราะอาศัยพยานเอกสารในสำนวน แล้วสรุปว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ กรณีเช่นนี้ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดตรงประเด็นแล้วหาใช่นอกประเด็นไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ประการที่สอง ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดกฎหมายหรือไม่โจทก์ฎีกาว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2528ทนายจำเลยได้มอบอำนาจให้เสมียนทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและให้ดำเนินการสืบพยานโจทก์ต่อไป จึงมีผลเท่ากับให้จำเลยขาดนัดพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นสืบนายดัด กองจอหอ พยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจำเลยจึงไม่มีสิทธิสืบพยานหักล้างตัวโจทก์ซึ่งเบิกความไปแล้วได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามคำเบิกความของโจทก์ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นยอมให้จำเลยนำสืบพยานหักล้างพยานโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 วรรคสองบัญญัติว่า “ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดมาศาลภายหลังที่ได้เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว และศาลเห็นว่าการขาดนัดนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจ หรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ถ้าจำเลยที่ขาดพิจารณานั้นขาดนัดยื่นคำให้การด้วยให้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา 199
ในกรณีที่ได้บัญญัติไว้ในวรรคก่อนนี้ ถ้าศาลเห็นว่าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควร ก็ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไป แต่
(1) ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้คู่ความที่ขาดนัดนำพยานเข้าสืบถ้าคู่ความนั้นมาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบแล้ว
(2) ถ้าคู่ความที่ขาดนัดมาศาล เมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบไปแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลยอมให้คู่ความที่ขาดนัดคัดค้านพยานหลักฐานเช่นว่านั้นโดยวิธีถามค้านพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้สืบไปแล้ว หรือโดยวิธีคัดค้านการระบุเอกสารหรือคัดค้านคำขอที่ให้ศาลไปทำการตรวจหรือให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญของศาล แต่ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนำพยานหลักฐานเข้าสืบยังไม่บริบูรณ์ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความที่ขาดนัดหักล้างได้แต่เฉพาะพยานหลักฐานที่นำสืบภายหลังที่ตนมาศาล
(3)…”
ดังนี้จะเห็นได้ว่า การที่จำเลยขาดนัดพิจารณาไม่มาศาลย่อมทำให้เสียประโยชน์คือไม่มีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ที่สืบไปแล้วหรือคัดค้านการระบุเอกสารหรือคัดค้านคำขอที่ให้ศาลไปทำการตรวจหรือตั้งผู้เชี่ยวชาญของศาลเฉพาะในวันที่ขาดนัดไม่มาศาลเท่านั้นและหากว่าโจทก์สืบพยานหมดในวันนั้น จำเลยก็ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบได้ในวันหลังอีกเพราะหมดเวลาที่ตนจะนำพยานเข้าสืบแล้วแต่ในคดีนี้ปรากฏว่าในวันนัดแรก โจทก์มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนได้นำนายดัดโจทก์เข้าเบิกความเพียงปากเดียว การสืบพยานยังไม่เสร็จบริบูรณ์ แล้วเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ที่เหลือในนัดต่อไปจำเลยจึงไม่มีสิทธิถามค้านพยานปากนายดัด เท่านั้น ส่วนในนัดต่อไปจำเลยมาศาล จำเลยชอบที่จะถามค้านพยานโจทก์ที่เบิกความในนัดต่อมาได้และนำพยานจำเลยเข้าเบิกความได้เพราะยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยถามค้านพยานโจทก์ที่นำสืบในนัดต่อมา ทั้งนำพยานจำเลยเข้าเบิกความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า ศาลชั้นต้นยอมให้จำเลยร่วมนำพยานเข้าสืบโดยไม่ได้ระบุพยานเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่
(1)…
(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้”จะเห็นได้ว่าตามมาตรา 88 คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยาน 3 วัน และหากอ้างอิงพยานเอกสารต้องส่งสำเนาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าก่อนวันสืบพยาน 3 วัน แต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่ออนุมาตรานี้คือไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยาน 3 วัน หรือไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ คดีนี้จำเลยร่วมไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ 3 วัน ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยร่วมว่าความด้วยตนเอง จึงใช้ดุลพินิจให้จำเลยร่วมนำพยานเข้าสืบได้ถึงแม้ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อกฎหมายทั้งสองประการดังกล่าวนี้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปได้เลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยอีก ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษากลับว่า ที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองขอน หมู่ที่ 11 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา โจทก์มีสิทธิครอบครอง ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท ห้ามมิให้จำเลยจำเลยร่วมและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 5,000 บาทนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะได้ออกไปจากที่พิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

Share