แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 ให้ผู้รับประเมินชำระภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สิน ซึ่งหมายถึงจำนวนเงินที่ทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่า ก็ให้ถือเอาค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปีมิใช่จะต้องคำนวณค่ารายปีจากค่าเช่าที่เจ้าของโรงเรือนให้เช่าเท่านั้น โรงเรือนของโจทก์แบ่งเป็นห้องๆใช้ทำเป็นหอพักโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้มาพัก เป็นรายได้ที่แน่นอนการประเมินค่ารายปีจากรายได้นี้ จำเลยย่อมคิดค่าภาษีโดยวิธีคำนวณจากรายได้ที่โจทก์ได้รับเป็นเกณฑ์ เท่ากับที่สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ ได้
โรงเรือนของโจทก์ใช้เป็นหอพักโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้มาพักแม้โจทก์จะอยู่อาศัยในหอพักด้วยก็ไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวจึงไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
การติดตั้งเครื่องมิเตอร์ปั๊มน้ำและมิเตอร์ประปา กับเครื่องปั๊มลมและอื่น ๆ ในโรงเรือนของโจทก์ ก็เพื่อความสะดวกและเป็นเพียงบริการแก่ผู้มาพักเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเจ้าของโรงเรือนติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องกระทำเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมตามความหมายของมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงไม่ได้รับลดหย่อนภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ.2497 มาตรา 4 บัญญัติให้เทศบาลจัดเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินในเขตเทศบาลเป็นของเทศบาลเอง และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 36 และมาตรา 39 บัญญัติให้มีเทศมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลดังนั้น อำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ซึ่งเดิมพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475 มาตรา 25 ให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรจึงตกมาเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของคณะเทศมนตรีอธิบดีกรมสรรพากรจึงไม่มีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอพิจารณาการประเมินค่าภาษีโรงเรือน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนโดยคำนวณค่ารายปีและภาษีที่จะต้องเสียไม่ถูกต้อง เพราะทรัพย์สินของโจทก์ทำเป็นหอพัก ไม่เหมือนกับการเช่าเคหะอย่างอื่น และได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่น้อยกว่าโรงเรือนข้างเคียงหรือราคาตลาด โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 5 เทศมนตรีทำการแทนนายกเทศมนตรีนครหลวงแจ้งว่า คณะเทศมนตรีของจำเลยที่ 1 ชี้ขาดว่า การประเมินภาษีของจำเลยที่ 4 ถูกต้องแล้ว โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีและคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ถูกต้องเพราะโรงเรือนของโจทก์เป็นหอพักไม่ได้ให้เช่า ทั้งได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเอง ไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือน หอพักของโจทก์เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ต้องลดค่ารายปีลงเหลือ 1 ใน 3 และจำเลยไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้ว ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว และไม่ต้องรับผิดชอบในฐานะนายกเทศมนตรีนครหลวง เพราะพ้นจากตำแหน่งแล้ว
จำเลยที่ 3, 4 และ 5 ให้การว่า โรงเรือนของโจทก์แบ่งเป็นห้อง ๆ ทำเป็นหอพัก คิดค่าเช่าห้องพักอย่างน้อยห้องละ 300 บาทต่อเดือน โจทก์จะได้ค่าเช่าอย่างน้อยเดือนละ 15,600 บาทต่อเดือน โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือน เจ้าหน้าที่เห็นว่าโรงเรือนพิพาทให้เช่าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000 บาท จึงประเมินค่ารายปี 48,000 บาท โจทก์ต้องเสียค่าภาษีโรงเรือน 6,000 บาท หอพักของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีและถือไม่ได้ว่าเป็นอุตสาหกรรม จึงไม่ได้รับลดค่ารายปี จำเลยมีอำนาจเรียกเก็บภาษีและคณะเทศมนตรีมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดคำร้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 ให้ผู้รับประเมินเสียภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สิน และมาตรานี้ระบุถึงค่ารายปีว่าหมายถึงจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าก็ให้ถือเอาค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปี มิใช่จะต้องคำนวณค่ารายปีจากค่าเช่าที่เจ้าของโรงเรือนให้เช่าเท่านั้น ถ้าทรัพย์สินใดไม่ได้ให้เช่าก็ให้ประเมินเป็นจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ เป็นค่ารายปี โรงเรือนของโจทก์แบ่งเป็นห้อง ๆ ใช้ทำเป็นหอพักโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้มาพัก ซึ่งเป็นรายได้แน่นอน โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และการประเมินค่ารายปีจากรายได้นี้ ย่อมคิดค่าภาษีโดยคำนวณจากรายได้ที่โจทก์ได้รับเป็นเกณฑ์เท่ากับที่สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ
โรงเรือนของโจทก์ใช้ทำเป็นหอพักโดยได้รับค่าตอบแทนและบริการอย่างอื่นจากผู้มาพัก แม้โจทก์จะอาศัยในหอพัก โรงเรือนของโจทก์ก็ไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่ได้ใช้เป็นหอพักได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเหมือนการใช้ประกอบกิจการอย่างอื่นด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และการที่โรงเรือนของโจทก์ได้ติดตั้งเครื่องมิเตอร์ปั๊มน้ำและมิเตอร์ประปา กับเครื่องปั๊มลมและอื่น ๆ ก็เพื่อความสะดวกของผู้มาพักและได้รับค่าตอบแทน จึงเป็นเพียงการบริการอย่างอื่นแก่ผู้มาพักเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องกระทำเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่างตามความหมายในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 จึงไม่ได้รับลดหย่อนภาษีโรงเรือนและที่ดิน
สำหรับปัญหาว่าคณะเทศมนตรีมีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอพิจารณาการประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่หรือไม่นั้น พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 มาตรา 4 บัญญัติว่า ภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตเทศบาลใดให้เทศบาลนั้นจัดเก็บเป็นรายได้ของเทศบาล ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ประกอบกับพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 36 บัญญัติว่า ให้มีเทศมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมายดังนี้ จึงเห็นได้ว่าอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรนั้น ได้ตกมาเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของคณะเทศมนตรีตามบทบัญญัติข้างต้น อธิบดีกรมสรรพากรจึงไม่มีอำนาจเพื่อการนี้ต่อไป
พิพากษายืน