แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นเอกสารที่ พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 51 กำหนดให้นายเรือหรือตัวแทนเรือต้องจัดทำขึ้นโดยมีรายละเอียดของสินค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อสินค้าขาออกและยื่นต่อศุลกสถานภายใน 6 วันเต็มนับแต่วันที่ได้ออกใบปล่อยเรือขาออก จึงเป็นเอกสารที่สามารถนำมาสืบได้ว่าผู้ยื่นใบขนส่งสินค้าขาออกส่งสินค้าไปต่างประเทศตามใบขนส่งสินค้าขาออกจริงหรือไม่ แต่การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแพ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 93 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 17 เมื่อบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่โจทก์นำสืบในคดีนี้เป็นสำเนาเอกสาร และจำเลยก็ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านการนำเอกสารดังกล่าวมาสืบว่าสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่โจทก์ใช้อ้างอิงต่อศาลภาษีอากรกลางทั้งหมดไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับก่อนการสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ยอมรับว่าสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือดังกล่าวถูกต้อง และทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้ เพราะสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาได้โดยประการอื่น ทั้งผู้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาเอกสารไม่ปรากฏว่าเป็นหัวหน้ากรม กอง แผนก หรือผู้รักษาการแทนตำแหน่งดังกล่าวของโจทก์ที่มีหน้าที่ดูแลเอกสารหรือรับรองความถูกต้องของเอกสารสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 146,001.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 109,500.86 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 255,502.02 บาท ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 146.001.16 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 146,001.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพ้นกำหนดที่โจทก์ทวงถามคือวันที่ 4 มีนาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 1 มีนาคม 2538 ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิพิธ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก 2 ชุดคำขอ โดยแนบใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมน้ำเงิน 7 ฉบับ ประกอบการยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์พร้อมกับแสดงความประสงค์ขอโอนสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีเป็นเงินรวม 969,814.81 บาท พร้อมกันนี้ จำเลยได้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีดังกล่าวโดยตกลงว่า หากเกิดการทุจริตในการยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีให้แก่จำเลยและจำเลยได้นำบัตรภาษีดังกล่าวไปใช้แทนเงินสดในการชำระภาษีแล้วเป็นเงิน 146,001.16 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิพิธ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ได้ส่งสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกที่พิพาทออกไปนอกราชอาณาจักรหรือไม่ เห็นว่า บัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นเอกสารที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 51 กำหนดให้นายเรือหรือตัวแทนต้องจัดทำขึ้นโดยมีรายละเอียดของสินค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อสินค้าขาออกของโจทก์นั้นและยื่นต่อศุลกสถานภายใน 6 วันเต็มนับแต่วันที่ได้ออกใบปล่อยเรือขาออกให้จึงเป็นเอกสารที่สามารถนำมาพิสูจน์ได้ว่าผู้ยื่นใบขนสินค้าขาออกส่งสินค้าไปต่างประเทศตามใบขนสินค้าขาออกจริงหรือไม่ แต่การรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต้องอยู่ภายใต้บังคับบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ที่ว่า การอ้างเอกสารเป็นพยานนั้นให้ยอมรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่ (๑) เมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ (๒) ถ้าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้เพราะสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาพยานบุคคลมาสืบก็ได้ (๓) ต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการนั้น จะนำมาแสดงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตของรัฐมนตรี หัวหน้ากรม กอง หัวหน้าแผนกหรือผู้รักษาการแทนในตำแหน่งนั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณีเสียก่อน อนึ่ง นอกจากศาลจะได้กำหนดเป็นอย่างอื่น สำเนาเอกสาร หรือข้อความที่คัดจากเอกสารเหล่านั้นซึ่งรัฐมนตรีหัวหน้ากรม กอง หัวหน้าแผนกหรือผู้รักษาการแทนในตำแหน่งนั้น ๆ ได้รับรองถูกต้องแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพียงพอในการที่จะนำมาแสดง ในประเด็นนี้บัญชีสินค้าสำหรับเรือที่โจทก์นำมาสืบในคดีนี้เป็นสำเนาเอกสารและจำเลยได้ยื่นคำแถลงคัดค้านการนำเอกสารดังกล่าวมาสืบว่า สำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่โจทก์ใช้อ้างอิงต่อศาลภาษีอากรกลางทั้งหมดไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับก่อนการสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ตกลงยอมรับว่าสำเนาเอกสารบัญชีสินค้าสำหรับเรือดังกล่าวถูกต้อง เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้เพราะสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาได้โดยประการอื่น ทั้งผู้ที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าเป็นหัวหน้ากรม กอง แผนกหรือผู้รักษาการแทนตำแหน่งดังกล่าวของโจทก์ที่มีหน้าที่ดูแลเอกสารหรือรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวได้แต่อย่างใด สำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือจึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยาน เมื่อโจทก์มีเพียงพยานเบิกความไปตามรายละเอียดที่ปรากฏในสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือซึ่งเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังและพยานก็มิใช่ผู้ทำเอกสาร แต่เป็นเพียงผู้ทำการตรวจสอบเอกสารในภายหลัง เพียงคำเบิกความดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ นอกจากนี้โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่ามีการสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออกทั้ง 7 ฉบับ ดังนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่เพียงพอให้รับฟังว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด พิพิธ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต สำแดงเท็จโดยมิได้ส่งสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกที่พิพาทออกไปนอกราชอาณาจักร กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง