คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8590-8591/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แม้ว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 จำเลยจะนำต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางวางต่อศาลแรงงานกลาง แต่จำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ทั้งจำเลยยังได้ระบุในคำขอวางเงินว่านำมาวางไว้เพื่อชำระหนี้โจทก์ถ้าจำเลยแพ้คดีในชั้นฎีกา ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยไม่ยอมรับผิด จึงไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ยหากจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 136 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,000 บาท ค่าชดเชย 30,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินค่าชดเชย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 8,000 บาท ค่าชดเชย 24,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 16,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นับแต่วันฟ้อง กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินค่าชดเชย นับแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำขอวางเงินชำระหนี้ต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ว่าขอนำแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางนา เลขที่ 0176093 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 จำนวนเงิน 114,075 บาท มาวางไว้เพื่อชำระหนี้โจทก์ทั้งสอง ถ้าจำเลยแพ้คดีในชั้นฎีกา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับไว้ฝากธนาคาร ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2548 โจทก์ทั้งสองยื่นคำแถลงขอรับเงินดังกล่าว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า เนื่องจากคดีมีการอุทธรณ์และคดีอยู่ในชั้นฎีกาจึงยังไม่อนุญาตในชั้นนี้ ให้รอไว้เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว
ศาลฎีกาพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวน
หลังจากศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและออกคำบังคับแล้ว วันที่ 28 ธันวาคม 2548 โจทก์ทั้งสองยื่นคำแถลงขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลไว้จำนวน 114,075 บาท ศาลแรงงานกลางอนุญาต ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2549 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องว่า โจทก์ทั้งสองยังมีสิทธิได้รับเงินดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยนำเงินมาวางศาลเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำนวณถึงวันที่ 27 มกราคม 2549 จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 7,125.11 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 5,715.98 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทราบคำบังคับแล้วแต่ชำระไม่ครบขอศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลแรงงานกลางออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2549 จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยได้ปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เมื่อไม่ปรากฏว่าคำพิพากษาศาลฎีกามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมูลหนี้เดิม จำเลยจึงไม่มีหนี้เป็นดอกเบี้ยจะต้องชำระเพิ่มอีกเพราะเงินจำนวน 114,075 บาท ที่จำเลยนำไปวางชำระหนี้นั้นเป็นการวางชำระหนี้มิใช่วางเป็นหลักประกัน การที่โจทก์ทั้งสองไม่ขอรับไปหรือศาลไม่จ่ายให้โจทก์ทั้งสองไป ไม่เป็นเหตุให้จำเลยจะต้องมารับผิดชำระดอกเบี้ยอีก ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า การวางเงินของจำเลยดังกล่าวนั้นมิใช่เป็นการวางเงินโดยยอมรับผิดตามคำพิพากษา เพราะจำเลยมีการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางและยังระบุไว้ในคำขอวางเงินว่านำมาวางไว้เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสองถ้าจำเลยแพ้คดีในชั้นฎีกา ดังนั้น เมื่อศาลฎีกายกอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อโจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยไม่ถือว่าการวางเงินของจำเลยดังกล่าวนั้นเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา (ที่ถูก ต้องทำเป็นอุทธรณ์)
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เมื่อจำเลยวางต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่วางเงินแล้ว จำเลยยังต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่วางเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว วันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา แม้ว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 จำเลยจะนำต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันดังกล่าวจำนวน 114,075 บาท วางต่อศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์แต่อย่างไร ทั้งจำเลยยังได้ระบุในคำขอวางเงินชำระหนี้ว่านำมาวางไว้เพื่อชำระหนี้โจทก์ทั้งสองถ้าจำเลยแพ้คดีในชั้นฎีกา เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยไม่ยอมรับผิด จึงไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ย หากจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 136 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย จึงต้องบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยจำเลยจะต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับเงินจำนวน 114,075 บาท ไปในวันที่จำเลยนำมาวางต่อศาล จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงยังต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งเป็นวันวางเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จตามคำพิพากษาแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share