คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติในมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 นั้นหมายความว่าเมื่อศาลสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเท่าใดแล้ว ต่อมาปรากฏว่าศาลสั่งไปโดยหลงผิดเข้าใจว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้จริงตามจำนวนเงินที่สั่งอนุญาต แต่ความจริงลูกหนี้มิได้เป็นหนี้หรือลูกหนี้เป็นหนี้น้อยกว่านั้นเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้
ศาลสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130(6) โดยถือว่าหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นหนี้บุริมสิทธิต่อมาได้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่าหนี้ทำนองเดียวกันนี้ถือว่าถึงกำหนดชำระเกินกว่าหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วและเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(8) ซึ่งมิใช่หนี้บุริมสิทธินั้น คำสั่งของศาลที่สั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(6) ไปแล้วนั้น ไม่ใช่สั่งไปโดยผิดหลงตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 108

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ทั้งสามเด็ดขาด ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมเป็นเงิน 1,880,864.61 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเชื่อว่าลูกหนี้ที่ 1 ค้างชำระภาษีรวมเป็นเงิน 1,880,864.61 บาทจริง แต่เป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์อันเป็นหนี้บุริมสิทธิเพียง 2 รายการ รวม 297,741.02 บาท ลูกหนี้ที่ 2 และ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของลูกหนี้ที่ 1 ต้องร่วมรับผิดด้วย จึงเสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่าควรให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม 1,880,864.61 บาท แต่ให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130(6) เพียง 297,741.02 บาท ส่วนอีก 1,583,123.59 บาทให้ได้รับชำระหนี้ ตามมาตรา 130(8) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2515 อนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2515 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องว่าได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1401-1402/2515 ว่าภาษีที่จะต้องชำระนั้นถึงกำหนดชำระตั้งแต่ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องชำระ มิใช่ถึงกำหนดเมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้ผู้เสียภาษีชำระค่าภาษี ดังนั้นหนี้ค่าภาษี 2 รายการรวม 297,741.02 บาทจึงไม่ใช่ค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากร 297,741.02 บาทตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130(6) นั้น ยังไม่เป็นไปตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 108 จึงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเป็นว่า อนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากร 1,880,864.61 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130(8)

ผู้ขอรับชำระหนี้คัดค้านว่าไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลสั่งไปโดยผิดหลง และคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นเป็นอันยุติเพราะไม่มีคู่ความอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งแก้ไขคำสั่งเดิมได้

ศาลชั้นต้นสั่งว่า ที่ศาลสั่งไปแล้วเป็นการผิดหลง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 108 จึงให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามเป็นเงิน 1,880,864.61 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130(8)

ผู้ขอรับชำระหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 108ที่บัญญัติว่า “คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งศาลได้สั่งอนุญาตแล้วนั้น ถ้าต่อมาปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยผิดหลง เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้” นั้น หมายความว่าเมื่อศาลสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้เป็นจำนวนเงินเท่าใดแล้ว ต่อมาปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยผิดหลงเพราะเข้าใจว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จริงตามจำนวนเงินที่สั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ แต่ความจริงลูกหนี้มิได้เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ หรือลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้น้อยกว่าจำนวนเงินที่ศาลสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้แล้วแต่กรณี แต่กรณีนี้มิใช่ลูกหนี้มิได้เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ หรือลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้น้อยกว่าจำนวนเงินที่ศาลสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จริงตามจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ เพียงแต่ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 297,741.02 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(6) โดยถือว่าหนี้จำนวนดังกล่าวถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น ต่อมาได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1401-1402/2515 วินิจฉัยว่าภาษีถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ผู้เสียภาษีเงินได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 68 คือถึงกำหนดชำระเงินใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งหากถือตามคำวินิจฉัยดังกล่าว หนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 297,741.02 บาท ถึงกำหนดชำระเกินกว่าหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ขอรับชำระหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวตามมาตรา 130(8) เช่นเดียวกับหนี้จำนวน 1,583,123.59 บาท เท่านั้น เห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่ศาลชั้นต้นได้สั่งไปโดยผิดหลงตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 108

พิพากษายืน

Share