คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นาของ จ. กับพวกอยู่ทางเหนือของพนังกั้นน้ำ นาของจำเลยอยู่ทางใต้ของพนังและอยู่ในที่ลุ่ม เวลามีน้ำมาก ๆ นาของจำเลยจะถูกน้ำท่วมหมดหลังปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา น้ำท่วมนาของจำเลยเพราะมีผู้ถมดินปิดทางระบายน้ำ จำเลยร้องไปทางอำเภอ ๆ ก็ไม่ทำอะไร จนปี พ.ศ. 2516 ที่เกิดเหตุ จ. กับพวกหล่อคอนกรีตทับพนังกั้นน้ำและปิดช่องระบายน้ำอีกทำให้น้ำท่วมนาของจำเลยสูงถึง 1 เมตร จนจำเลยไม่อาจทำนาได้เมื่อจำเลยได้ดำเนินการที่จะขจัดความเสียหายโดยการร้องเรียนต่ออำเภอหลายครั้งแล้ว ไม่ได้ผลจำเลยจึงทุบทำลายพนังคอนกรีตนั้นโดยทำเพียงให้ขาดเป็นช่อง 3 ช่องเพื่อไม่ให้น้ำท่วมนาจำเลยเท่านั้น แม้จะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้ทรัพย์สินของตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ปรับคนละ ๕๐๐ บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่านาของนายจันทร์ ปัญจะจอม กับพวกอยู่ทางทิศเหนือของพนังกั้นน้ำพิพาท ส่วนที่นาของจำเลยอยู่ทางทิศใต้ของพนังกั้นน้ำดังกล่าวเป็นที่นาที่อยู่ในที่ลุ่มและพนังกั้นน้ำพิพาทอยู่ในเขตที่นาของจำเลยเวลามีน้ำมาก ๆ ที่นาของจำเลยจะถูกน้ำท่วมหมด หลังจากปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา น้ำท่วมนาของจำเลยเพราะนายเจริญ หอมนาน กับพวกถมดินปิดทางระบายน้ำจำเลยจึงร้องไปทางอำเภอแต่ก็ไม่ได้กระทำการอย่างใด จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๖ นายจันทร์ ปัญจะจอม กับพวกหล่อคอนกรีตทับพนังกั้นน้ำและปิดช่องระบายน้ำอีก ทำให้น้ำท่วมบริเวณที่นาจำเลยสูงถึง ๑ เมตร จำเลยไม่อาจไถนาและดำนาได้เมื่อเป็นเช่นนี้การที่จำเลยทุบทำลายพนังกั้นน้ำคอนกรีตดังกล่าวจึงเป็นได้ชัดว่าเพื่อให้มีทางระบายน้ำไหลออกมิให้น้ำท่วมนาจำเลยจำเลยเองก็ได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะขจัดความเสียหายที่ได้รับโดยการ ร้องเรียนต่อทางอำเภอเชียงคำหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่ได้ผลจึงได้ทุบทำลายพนังคอนกรีตดังกล่าวแต่ก็หาได้ทำลาย ทั้งหมดไม่โดยทำให้ขาดเป็นช่อง ๓ ช่อง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมนาจำเลยเท่านั้นแม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำผิดด้วยความจำเป็นเพื่อให้ ทรัพย์สินของตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ทั้งการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗
พิพากษายืน

Share