แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าต้องถือเอาความรู้สึกของสาธารณชนที่ซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ เป็นหลักว่ารู้สึกสับสนหรือก่อให้เกิดความหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ มีลักษณะเป็นคำประกอบด้วยตัวอักษรโรมันมีขนาดเดียวกันจำนวน 9 ตัว อ่านออกเสียงว่า “เพรสซิเดนท์”ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 275667ประกอบด้วยอักษรโรมัน 17 ตัว แม้จะมีคำว่า “PRESIDENT” อยู่ด้วยแต่ก็มีคำว่า “UNI” นำหน้าเป็น “UNIPRESIDENT” ซึ่งมีส่วนที่แตกต่างจากของโจทก์ ทั้งยังมีขนาดเล็กกว่าอักษรตัว P ประดิษฐ์ และอักษรคำว่า”UNIF” หลายเท่า สำหรับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 275668มีอักษรโรมันตัวเดียวเป็นรูปตัว P ประดิษฐ์ นอกนั้นเป็นอักษรไทยว่า”ยูนิ-เพรสซิเดนท์”ซึ่งตัวเล็กมากแต่เน้นคำว่า”ยูนิฟ” ให้มีขนาดใหญ่ซึ่งเป็นการแสดงออกให้คนซื้อสินค้าทราบว่าสินค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายนี้มีชื่อเรียกขานที่สำคัญว่า “UNIF” หรือ “ยูนิฟ” รูปลักษณะโดยรวม ตลอดจนสำเนียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และของจำเลยหรือผู้ร้องสอดเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากจนไม่อาจทำให้สาธารณชนที่ซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่เรียกขานว่า “UNIF” หรือ “ยูนิฟ” เข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “PRESIDENT” ของโจทก์หรือเป็นสินค้าที่โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยไปได้ สาธารณชนย่อมไม่สับสนหรือหลงผิดในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายอันจะทำให้เข้าใจผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “PRESIDENT” สำหรับสินค้าประเภทที่โจทก์ได้ขอจดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลย เครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนไว้ดังกล่าวข้างต้นคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าให้จำเลยถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือเครื่องหมายอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาบริษัทเพรสซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัดยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความในคดีอ้างว่าได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าจากจำเลย จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ผู้ร้องสอดให้การว่า ผู้ร้องสอดเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 275667 และเลขที่ 275668 มาจากจำเลย คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมีส่วนอันเป็นสาระสำคัญต่างกัน กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเพียงคำว่า”PRESIDENT” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยประกอบด้วยรูปอักษรP ประดิษฐ์กับคำว่า “UNI-PRESIDENT UNIF” และเครื่องหมายการค้ารูปอักษร P ประดิษฐ์กับคำว่า “ยูนิ-เพรสซิเดนท์ ยูนิฟ” เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีส่วนอันเป็นสาระสำคัญที่อักษร P ประดิษฐ์ และคำว่า “UNIF”หรือ “ยูนิฟ” ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าคำว่า “UNI-PRESIDENT” หรือ”ยูนิ-เพรสซิเดนท์” การเรียกขานนั้นคนทั่วไปเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่า “เพรสซิเดนท์” และเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยว่า”ยูนิฟ” เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ผู้ร้องสอดได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้ามาจากจำเลยโดยชอบ จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสืบต่อจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นคำประกอบด้วยอักษรโรมัน 9 ตัว อ่านว่า “เพรสซิเดนท์” แปลว่าประธานาธิบดี ใช้กับสินค้าจำพวก 42 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2522 ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2537 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 2 เครื่องหมาย โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวข้างต้น แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โดยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้ววินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของจำเลยหรือผู้ร้องสอดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า ความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าต้องถือเอาความรู้สึกของสาธารณชนที่ซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ เป็นหลักว่ารู้สึกสับสนหรือก่อให้เกิดความหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะเป็นคำประกอบด้วยตัวอักษรโรมันมีขนาดเดียวกันจำนวน 9 ตัว อ่านออกเสียงว่า “เพรสซิเดนท์”ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 275667ประกอบด้วยอักษรโรมัน 17 ตัว แม้จะมีคำว่า “PRESIDENT” อยู่ด้วยแต่ก็มีคำว่า “UNI” นำหน้าเป็น “UNI PRESIDENT” ซึ่งมีส่วนที่แตกต่างจากของโจทก์ ทั้งยังมีขนาดเล็กกว่าอักษรตัว P ประดิษฐ์ และอักษรคำว่า “UNIF”หลายเท่า สำหรับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 275668 มีอักษรโรมันตัวเดียวเป็นรูปตัว P ประดิษฐ์ นอกนั้นเป็นอักษรไทยว่า “ยูนิ-เพรสซิเดนท์”ซึ่งตัวเล็กมาก แต่เน้นคำว่า “ยูนิฟ” ให้มีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการแสดงออกให้คนซื้อสินค้าทราบว่าสินค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายนี้มีชื่อเรียกขานที่สำคัญว่า “UNIF” หรือ “ยูนิฟ” และเมื่อพิจารณาถึงรูปลักษณะโดยรวมตลอดจนสำเนียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และของจำเลยหรือผู้ร้องสอดแล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากจนไม่อาจทำให้สาธารณชนที่ซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่เรียกขานว่า”UNIF” หรือ “ยูนิฟ” เข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “PRESIDENT” ของโจทก์หรือเป็นสินค้าที่โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยไปได้ดังนั้นสาธารณชนย่อมไม่สับสนหรือหลงผิดในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายอันจะทำให้เข้าใจผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์”
พิพากษายืน