แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยมีว่า ผู้เอาประกันภัยจะไม่ตกลงยินยอมเสนอหรือให้สัญญาจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้นหมายถึงกรณีบุคคลอื่นเรียกร้องผู้เอาประกันภัยชดใช้ค่าเสียหาย ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่กระทำการใด ๆ ตามเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้ผู้เอาประกันภัยก่อหนี้อันอาจผูกพันบริษัทที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกโดยบริษัทไม่ยินยอมหาใช่เป็นเงื่อนไขที่ห้ามมิให้ผู้เอาประกันภัยสละสิทธิเรียกร้องแก่บุคคลใดอันจะมีผลถึงการรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยไม่ และการที่คนขับรถยนต์ผู้เอาประกันภัยได้ตกลงกับคู่กรณีโดยต่างฝ่ายสละสิทธิเรียกร้องต่อกัน ก็มิใช่ยินยอมเสนอหรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลใดตามกรมธรรม์ดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยจึงไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ต่อจำเลย ในระหว่างกำหนดอายุสัญญารถยนต์ของโจทก์ชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่นเสียหายและเสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยไม่ชำระค่าซ่อมให้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำเลยให้การว่า ผู้ขับขี่รถยนต์โจทก์ได้ตกลงยินยอมกับคู่กรณีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยเป็นการผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาโจทก์จำเลยนำสืบรับตรงกันว่า หลังจากเกิดเหตุแล้วผู้ขับขี่รถยนต์คันเกิดเหตุของโจทก์และคู่กรณีอีกฝ่ายได้ตกลงยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเปรียบเทียบปรับทั้งสองฝ่ายและต่างไม่ติดใจที่จะเรียกร้องซึ่งกันและกันทั้งทางแพ่งและอาญา ส่วนรถยนต์โจทก์นั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประเมินราคาของจำเลยเป็นผู้มอบให้บริษัทวี.ซี.เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นผู้ทำการซ่อมแต่เมื่อซ่อมเสร็จแล้วบริษัทจำเลยไม่ยินยอมชำระค่าซ่อม โจทก์จึงได้ยอมชำระค่าซ่อมเองเป็นเงิน 100,000 บาท จึงสามารถรับรถยนต์คืนมาได้ คดีมีประเด็นชั้นฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ทำผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยตามที่จำเลยต่อสู้หรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยหมวด 1 ข้อ 1.5 การจัดการเรียกร้อง1.5.1 ที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้มีข้อความว่า “ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่า จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท เว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้น” เห็นว่า เงื่อนไขข้อนี้หมายถึงกรณีที่มีบุคคลอื่นเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยชดใช้ค่าเสียหาย ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลนั้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทจำเลยผู้รับประกันภัย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้ผู้เอาประกันภัยก่อหนี้อันอาจจะส่งผลผูกพันบริษัทจำเลยผู้รับประกันภัยในการที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยบริษัทจำเลยไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วยเท่านั้น หาใช่เป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยหรือเป็นเงื่อนไขที่มีความหมายในการป้องกันหรือห้ามมิให้โจทก์ผู้เอาประกันภัยสละสิทธิ์เรียกร้องแก่บุคคลใดอันจะมีผลถึงการรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยดังที่จำเลยอ้างนั้นไม่ และเมื่อตามข้อเท็จจริงแห่งคดีปรากฏว่าคนขับรถยนต์โจทก์ได้ตกลงกับคู่กรณีโดยต่างฝ่ายต่างสละสิทธิ์เรียกร้องต่อกัน มิใช่ยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลใดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยอ้างดังนี้โจทก์จึงไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อ 2 เรื่องค่าเสียหายนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเกิดเหตุแล้วเจ้าหน้าที่ฝ่ายประเมินราคาของจำเลยได้จัดการเอารถยนต์โจทก์ไปประเมินค่าเสียหายและส่งรถยนต์โจทก์ไปให้ช่างของอู่ซ่อมที่จัดหามาประเมินราคานั้นทำการซ่อมเอง แต่จำเลยไม่ชำระค่าซ่อมทั้ง ๆ ที่ต้องรับผิดตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น จนโจทก์ต้องชำระค่าซ่อมรถยนต์โจทก์ไปตามความจริงเช่นนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวต่อโจทก์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน