แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาปนแพ่งขอให้ลงโทษจำเลยทางอาญาและเรียกทรัพย์คืนด้วยนั้น ในการพิพากษา คดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาส่วนอาญาตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา 46.
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยฉ้อโกงทรัพย์ ขอให้ลงโทษและใช้ราคาทรัพย์ เมื่อพยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ฉ้อโกงเอา ทรัพย์ของโจทก์ไป ซึ่งจะลงโทษจำเลยทางอาญาไม่ได้แล้ว ก็จะให้จำเลยรับผิดใช้ทรัพย์แก่โจทก์ไม่ได้ด้วย./
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมาขอกู้เงินโจทก์ไป ๗๐๐ บาท โดยใช้อุบายหลอกลวงเอาเข็มขัดนาคปลอมมาให้โจทก์ยึดไว้เป็นประ กันเงินกู้ โดยกล่าวเท็จว่า เข็มขัดนั้นเป็นเข็มขัดนากปนทอง โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยกู้เงินไปและรับเข็มขัดนั้นไว้ ต่อมาจึงทราบว่าเข็มขัดนั้นเป็นของปลอม จึงขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๐๔, ๓๐๖ และให้ใช้เงิน ๗๐๐ บาท.
จำเลยปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เข็มขัดนากของกลางปลอมจริง แต่เชื่อว่าของกลางอาจเป็นของชายคนหนึ่งดังจำเลยนำสืบ จำเลยไม่ทราบว่า ปลอม จะเอาผิดทางอาญาแก่จำเลยไม่ได้ แต่โจทก์ต้องเสียหายเพราะจำเลยพาเข็มขัดปลอมไปวาง ประกันเงินกู้ จึงพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๗๐๐ บาท ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นให้รับผิดใช้เงิน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำพยานโจทก์เบิกความแตกต่างกัน ไม่น่าเชื่อ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็ฯว่า คดีเช่นนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฎในคำพิพากษาส่วนอาญาตามมาตรา ๔๖ แห่ง ป.ม.วิ.อาญา.
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคนละอย่างกับศาลชั้นต้น ถือฟังพยานโจทก์เบิกความแตกต่างกัน จนศาลอุทธรณ์ไม่ เชื่อพยานโจทก์ และโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยสมคบกันมากับชายคนที่มาหลอกลวง ซึ่งเท่ากับฟังว่าจำเลยมิได้เอาเงิน ของโจทก์ไป และมอบเข็มขัดปลอมให้โจทก์ ฉะนั้นจะให้จำเลยรับผิดคืนหรือใช้เงินให้โจทก์ไม่ได้ จึงพิพากษายืน./