คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8543-8552/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยต่อศาลชั้นต้นเสียภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย การที่กฎหมายเพียงแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยในกรณีที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยเสียภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ แสดงว่ากฎหมายมิได้บัญญัติบังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้วผู้ร้องจะต้องเป็นบริวารของจำเลยสถานเดียว โดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้ล่วงเลยกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศไปแล้ว ถ้าผู้ร้องมีหลักฐานสืบแสดงได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์สถานภาพของผู้ร้องได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ระยะเวลา 8 วันดังกล่าว เป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสิบสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 และให้เรียกจำเลยตามลำดับสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและบ้านเลขที่ 55, 70/4, 55/4, 71/3, 72/1, 44/4 ตามลำดับ และให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 10 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและบ้านไม่มีเลขที่ของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 10 หมู่ 13 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา กับทั้งให้ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวาร และห้ามเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 904 และ 905 ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ของโจทก์ที่ 1 ต่อไป ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ จำเลยทั้งสิบทราบคำบังคับแล้วไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาและศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว จำเลยและบริวารยังไม่ออกไปตามคำพิพากษาของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงปิดประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดีที่บังคับเอากับผู้ร้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องอ้างเหตุว่าไม่ใช่บริวารจะต้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ ตามคำร้องผู้ร้องมิได้บรรยายว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศเมื่อใดและศาลเองไม่อาจอนุมานได้ว่าผู้ร้องได้ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลา 8 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ร้องไว้ในมาตรา 296 จัตวา (3) คือถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยต่อศาลชั้นต้นเสียภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย การที่กฎหมายเพียงแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยในกรณีที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยเสียภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแสดงว่ากฎหมายมิได้บัญญัติบังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้วผู้ร้องจะต้องเป็นบริวารของจำเลยสถานเดียว โดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าล่วงเลยกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศไปแล้ว ถ้าผู้ร้องมีหลักฐานสืบแสดงได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์สถานภาพของผู้ร้องได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ระยะเวลา 8 วัน ดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยปัญหาว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องคัดค้านของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share