แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 185 เป็นเรื่องของการขยายเวลาคือถ้าสิทธิเรียกร้องจะขาดอายุความสั้นกว่า 1 ปีก็ให้ขยายออกไป 1 ปี ส่วนที่กฎหมายกำหนดให้มีอายุความฟ้องร้องเกินกว่า 1 ปี ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัตินั้น จะนำมาตรานี้มาใช้บังคับ โดยย่นเวลาให้สั้นเข้ามานั้นหาได้ไม่
โจทก์จำเลยหย่าขาดกันโดยคำพิพากษาของศาล โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์อันเป็นส่วนสินสมรส เป็นคดีฟ้องเรียกทรัพย์สิน มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
แม้บิดามารดาจะทำพินัยกรรมร่วมกันก็ดี แต่เมื่อบิดาตายก่อน พินัยกรรมก็มีผลบังคับเฉพาะส่วนของบิดาเท่านั้น
เงินผลประโยชน์อันเกิดจากสินสมรสนั้น จำเลยซึ่งถูกฟ้องขอแบ่งจะหักไว้ได้ก็เฉพาะค่ารักษาทรัพย์สิน ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน ส่วนเงินค่ากินอยู่ของจำเลยและบุตรโจทก์จำเลยนั้นเป็นคนละประเภท จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้ง ก็หักให้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยเป็นสามีภรรยากัน และศาลได้พิพากษาให้โจทก์ จำเลยหย่าขาดจากกัน ทรัพย์สินยังไม่ได้แบ่ง จึงขอให้ศาลแบ่งสินสมรสให้โจทก์ 2 ใน 3 กับให้จำเลยส่งผลประโยชน์ คือค่าเช่าที่ดินและตึกแถวอันอยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยให้การว่าทรัพย์ตามฟ้องเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาก่อนเป็นภรรยาโจทก์ และมารดาจำเลยเป็นผู้ครอบครองแทนจำเลย จนกระทั่งมารดาตาย ทรัพย์สินเหล่านี้จึงเป็นสินส่วนตัวหรืออย่างน้อยก็เป็นสินเดิมของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่ง ผลประโยชน์เกิดจากทรัพย์จำเลยได้ใช้จ่ายในการครองชีพและเลี้ยงบุตร และรวมทั้งจ่ายค่าบำรุงรักษาทรัพย์สินเหล่านั้นไปหมดแล้ว ต่อมาจำเลยให้การเพิ่มเติมตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 185 และว่าการแบ่งสินสมรสควรแบ่งตามมาตรา 1517
คู่ความรับกันว่า โจทก์ จำเลยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ต่อมาศาลได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกันคดีถึงที่สุดวันที่ 19 เมษายน 2481โฉนดที่ 2294 เดิมมีชื่อพระญาณวิจิตร และนางฮับบิดามารดาจำเลย ได้แก้ทะเบียนการโอนรับมรดกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2475 เป็นชื่อนางฮับและจำเลย ครั้นวันที่ 29 สิงหาคม 2478 นางฮับได้โอนขายส่วนของนางฮับให้แก่จำเลย และสำหรับโฉนดที่ 1947 เดิมมีชื่อพระญาณวิจิตรกับนางฮับต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2460 แก้ทะเบียนโอนเป็นของนางฮับแต่ผู้เดียว ครั้นวันที่ 29 สิงหาคม 2478 นางฮับ โอนขายให้แก่จำเลย
จำเลยแถลงว่า โฉนดทั้ง 2 แปลงเป็นสินเดิมของจำเลย โดยจำเลยถือว่าได้ตกแก่จำเลยทั้งหมด ตามพินัยกรรมของพระญาณวิจิตร ซึ่งทำร่วมกับนางฮับ ตั้งแต่พระญาณวิจิตรตายแล้ว (รับกันว่าพระญาณวิจิตรตายก่อนจำเลยได้โจทก์เป็นสามี) หากว่าส่วนของนางฮับยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เมื่อพระญาณวิจิตรตาย เมื่อนางฮับตายก็ตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ไม่เกี่ยวแก่โจทก์ (นางฮับตาย ภายหลังโจทก์จำเลยหย่าขาดกันแล้ว)
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้ (1) ให้จำเลยจ่ายค่าเช่าที่เก็บมาก่อนฟ้องให้โจทก์ (2) แบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดที่ 2294 ให้โจทก์ 1 ใน 3 (3) ให้แบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดที่ 1947 ให้โจทก์ 2 ใน 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้ว แล้วพิพากษาใหม่ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานชอบแล้ว ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาถึงประเด็นข้ออื่น ๆ พิพากษาใหม่ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยคัดค้านว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 185 นั้น เห็นว่าตามมาตรานี้เป็นเรื่องของการขยายเวลา คือถ้าสิทธิเรียกร้องจะขาดอายุความสั้นกว่า 1 ปี ก็ต้องขยายเวลาออกไปเป็น 1 ปี ส่วนที่กฎหมายกำหนดให้มีอายุความฟ้องร้องเกินกว่า 1 ปี ก็ต้องไปตามบทบัญญัตินั้นจะนำมาตรานี้มาใช้บังคับโดยย่นเวลาให้สั้นเข้ามานั้นหาได้ไม่ต้องบังคับตามอายุความเรื่องทรัพย์สิน อันมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ข้อคัดค้านของจำเลยว่า มรดกของพระญาณวิจิตรรวมทั้งส่วนของนางฮับด้วย ควรตกเป็นสิทธิแก่จำเลยตั้งแต่พระญาณวิจิตรถึงแก่กรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พระญาณวิจิตรกับนางฮับจะทำพินัยกรรมร่วมกัน ก็แต่เมื่อพระญาณวิจิตรตายก่อน พินัยกรรมก็มีผลบังคับเฉพาะทรัพย์สินของพระญาณวิจิตรเท่านั้น จำเลยคัดค้านว่าเงินที่จำเลยได้จ่ายเป็นค่าเลี้ยงดูบุตร ควรจะให้หักได้นั้นก็เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลล่างว่า จะหักได้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวแก่การรักษาทรัพย์สิน ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันเท่านั้นเงินค่ากินอยู่ของจำเลยและบุตรนั้นเป็นคนละประเภท เมื่อจำเลยมิได้ฟ้องแย้งไว้ ก็หักให้ไม่ได้
พิพากษายืน