คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 854/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุ เด็กหญิง ก. ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับยาย แต่ผู้เสียหายยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องอยู่ ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาซึ่งสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย พฤติการณ์ของจำเลยที่ให้ผู้เสียหายไปทำความสะอาดห้องนอนของจำเลย แล้วจำเลยตามไปกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องนอนของตนในครั้งแรก และเมื่อผู้เสียหายไปหาจำเลย ที่บ้าน จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายเป็นครั้งที่สอง ล้วนเป็นการกระทำอันล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เสียหาย ทั้งสิ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา แต่จำเลยยังมิได้มีภริยาจึงอยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายฉันสามีภรรยาได้ และผู้เสียหายและจำเลยต่างก็รักใคร่ชอบพอกันทั้งต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยก็ได้จดทะเบียนสมรสโดยได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่า ประสงค์ที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยา พฤติการณ์ของจำเลยจึงมิใช่เป็นการพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก ประกอบ ป.อ. มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗, ๓๑๗ วรรคสาม, ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก, ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปี รวม ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๔ ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารรวม ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวมทุกกระทง จำคุก ๑๘ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๙ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องทั้งข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกิน สิบห้าปี และข้อหาพรากผู้เยาว์
โจทก์ฎีกา เฉพาะข้อหาพรากผู้เยาว์
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหาย อายุ ๑๔ ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับยาย จำเลยบอกให้ผู้เสียหายช่วยทำความสะอาดห้องนอน เมื่อผู้เสียหายเข้าไปในภายในห้องนอน จำเลยตามเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมจนสำเร็จความใคร่ ๑ ครั้ง ต่อมาผู้เสียหายเดินทางไปพบจำเลยที่บ้านเพื่อสอบถามว่าเหตุใดจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายแล้วไม่รับผิดชอบ จำเลยดึงแขนผู้เสียหายเข้าไปในห้องนอน แล้วกระทำชำเรา ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายยินยอมจนสำเร็จความใคร่อีก ๑ ครั้ง หลังเกิดเหตุบิดามารดาของผู้เสียหายทราบเรื่องจึงพา ผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลอนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกัน สำหรับข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปีได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ โดยโจทก์ไม่ได้ฎีกา คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุแม้ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับยาย แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องอยู่ ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาซึ่งสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำอันล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เสียหายทั้งสิ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากผู้เสียหายซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา อย่างไรก็ดี การที่จำเลยยังมิได้มีภริยา จึงอยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายฉันสามีภริยาได้ ทั้งต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยก็ได้จดทะเบียนสมรส โดยได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่าประสงค์ที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยาพฤติการณ์ของจำเลยจึงมิใช่เป็นการ พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา รวมสองกระทง จำคุกกระทงละ ๓ ปี รวมจำคุก ๖ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุกกระทงละ ๑ ปี ๖ เดือน รวม ๒ ปี ๑๒ เดือน โทษที่จำเลยได้รับ แต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน ๒ ปี จำเลยเป็นนักศึกษาและเป็นญาติของผู้เสียหาย ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่จดทะเบียนสมรสกับผู้เสียหาย ทั้งได้เยียวยาความเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายแล้ว จึงถือเป็นเหตุอื่นควรปรานี ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔

Share