แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยถูกคุมขังตามอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางเป็นการควบคุมตามอำนาจหน้าที่ของสถานพินิจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ไม่เข้าอยู่ในบทวิเคราะห์ศัพท์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(21) และ (22) และไม่ใช่การ’คุมขัง’ตามมาตรา 1(12)แห่งประมวลกฎหมายอาญาฉะนั้นการหลบหนีไปจากการควบคุมของสถานพินิจจึงไม่ถือว่าเป็นการหลบหนีการควบคุมตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานหลบหนีที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๐ และฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ ขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหา
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗ และ ๗๒ ให้ปรับ ๑,๐๐๐ บาทลดตามมาตรา ๗๘ คงปรับ ๕๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวไปควบคุมในสถานพินิจเป็นเวลา ๖ เดือน ให้ยกข้อหาฐานหลบหนีที่คุมขังเพราะจำเลยอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางไม่ถือว่าจำเลยหลบหนีที่ควบคุมหรือคุมขังตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนฯ
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนเห็นว่า การที่จำเลยหลบหนีการควบคุมของสถานพินิจ ไม่เป็นความผิดฐานหลบหนีการควบคุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๐ ส่วนที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒และริบปืนกับกระสุนปืนของกลางด้วยนั้น เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยขณะที่ฟ้องจะเป็นความผิดและศาลได้พิพากษาลงโทษแล้วก็ตามแต่ขณะอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๕ ให้ไม่ต้องรับโทษต้องถือว่าในระยะ ๙๐ วัน กฎหมายยกเว้นโทษแก่ผู้มีอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาต จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหามีอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเสียด้วย ปืนและกระสุนของกลางไม่ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยถูกคุมขังตามอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง เป็นการควบคุมตามอำนาจหน้าที่ของสถานพินิจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ ไม่เข้าอยู่ในบทวิเคราะห์ศัพท์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๒๑) และ (๒๒) และไม่ใช่การ “คุมขัง” ตามมาตรา ๑(๑๒) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฉะนั้นการหลบหนีไปจากการควบคุมของสถานพินิจ จึงไม่ถือว่าเป็นการหลบหนีการควบคุมตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๐และตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๑๑ แสดงให้เห็นว่าการหลบหนีการควบคุมของเด็กและเยาวชนนั้นกฎหมายไม่เอาโทษ อย่างมากเพียงสั่งเพิ่มกำหนดเวลาที่ต้องฝึกอบรมเพื่อให้มีโอกาสขัดเกลานิสัยนานขึ้นเท่านั้น
ส่วนข้อหาฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นความผิดต่างกรรมคนละกระทงคนละพระราชบัญญัติกับความผิดที่อุทธรณ์ขึ้นมา ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นอันยุติแล้ว ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการพิพากษาโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ และข้อริบของกลาง ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้นี้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์