คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534-8535/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมเชื่อว่าบุตรชายของโจทก์ร่วมถูกผู้หญิงทำไสยศาสตร์เป็นเหตุให้ไม่กลับบ้านและมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โจทก์ร่วมจึงให้จำเลยที่ 2 ทำพิธีแก้ไสยศาสตร์ตามคำแนะนำของจำเลยที่ 1 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเท่านั้น หาได้ฟังข้อเท็จจริงใด ๆ ต่อไปว่าในขณะที่แนะนำให้โจทก์ร่วมทำพิธีไสยศาสตร์ จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จหรือเหตุที่โจทก์ร่วมเชื่อเช่นนั้นเกิดจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำคัญในคดีที่จะต้องประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย และมีผลโดยตรงในการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงในสำนวนให้ครบถ้วนแล้วด่วนวินิจฉัยว่าการที่จำเลยทั้งสองพูดชักชวนโจทก์ร่วมให้ทำพิธีไสยศาสตร์แล้วจะทำให้บุตรชายกลับบ้าน ที่ดินโจทก์ร่วมจะขายได้และคนในครอบครัวจะไม่เจ็บป่วย เป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน การเข้าทำพิธีของโจทก์ร่วมจึงไม่ได้เป็นผลจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องไป จึงเป็นการไม่ชอบ ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเป็นไปตามลำดับชั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ร่วม และเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 450,000.25 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายเสริม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่ช่วยกันพูดจาหว่านล้อมชักจูงให้โจทก์ร่วมเข้าทำพิธีไสยศาสตร์เป็นการแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงแล้วนั้น เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องกระทำโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม และการแสดงข้อความเท็จนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบัน หากเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตหรือให้คำมั่นแล้วก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าการกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตหรือการให้คำมั่นนั้นเป็นการยืนยันหรือแสดงภาวะแห่งจิตของผู้ที่หลอกลวงว่าเป็นเท็จในขณะที่กล่าวการกระทำนั้นก็ถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงในปัจจุบันอันเป็นความเท็จรวมอยู่ด้วยและเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมเชื่อว่านายศุภกิจ บุตรชายของโจทก์ร่วมถูกผู้หญิงทำไสยศาสตร์เป็นเหตุให้ไม่กลับบ้านและมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โจทก์ร่วมจึงให้จำเลยที่ 2 ทำพิธีไสยศาสตร์ตามคำแนะนำของจำเลยที่ 1 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเท่านั้น หาได้ฟังข้อเท็จจริงใด ๆ ต่อไปว่า ในขณะที่แนะนำให้โจทก์ร่วมทำพิธีไสยศาสตร์นั้น จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จหรือเหตุที่โจทก์ร่วมเชื่อเช่นนั้นเกิดจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำคัญในคดีที่จะต้องประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย และมีผลโดยตรงในการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงในสำนวนให้ครบถ้วน แล้วด่วนวินิจฉัยว่าการที่จำเลยทั้งสองพูดชักชวนให้โจทก์ร่วมทำพิธีไสยศาสตร์แล้วจะทำให้นายศุภกิจกลับบ้าน ที่ดินของโจทก์ร่วมจะขายได้และคนในครอบครัวจะไม่เจ็บป่วย เป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน การเข้าทำพิธีของโจทก์ร่วมจึงไม่ได้เป็นผลจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องไป จึงเป็นการไม่ชอบ ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาและเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่เพื่อให้การพิพากษาเป็นไปตามลำดับชั้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมอีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share