คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8533/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนกับ พ. ตกลงจัดสรรขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 โดยให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นดำเนินการ ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระบุตกลงขายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ลงนามในฐานะผู้จะขาย และจำเลยที่ 1 กับ ว. ภริยาจำเลยที่ 1 ลงนามร่วมกันในฐานะตัวแทนโจทก์ผู้จะซื้อ ส่วนโจทก์จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2536 การตกลงทำสัญญาดังกล่าว จึงอยู่ในช่วงระยะเวลาก่อนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและมีอำนาจลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายในฐานะผู้จะขาย แต่ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 และ ว. ภริยาจำเลยที่ 1 ซึ่งลงนามในสัญญาดังกล่าวในช่องผู้จะซื้อย่อมไม่มีฐานะเป็นตัวแทนโจทก์ แสดงให้เห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ 1ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายในฐานะผู้จะขายและจำเลยที่ 1 ลงนามร่วมกับ ว. ภริยาของตนในฐานะผู้จะซื้อ เป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่อให้พ. หุ้นส่วนนำไปแสดงเพื่อขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน แต่ไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ยืมได้ สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่งโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ต่อมาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 517และ 2121 ตำบลบึงบาใต้ (คลองซอยที่ 9 ฝั่งตะวันออก) อำเภอหนองเสือจังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ระหว่างจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 517 และ 2121 เนื้อที่รวม 75 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนกับนางสาววันเพ็ญบรรจงศิลป์ ตกลงจัดสรรขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวโดยให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นดำเนินการ ตามสัญญาเข้าหุ้นส่วน และมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2537 ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระบุตกลงขายให้แก่โจทก์ ราคาไร่ละ 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 45,600,000 บาท รับเงินมัดจำไว้1,000,000 บาท กำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 9 เมษายน2538 โดยจำเลยที่ 1 ลงนามในฐานะคู่สัญญา ฝ่ายผู้จะขายฝ่ายหนึ่งและจำเลยที่ 1 กับนางวันเพ็ญ เอมสมบุญ ภริยาจำเลยที่ 1 ลงนามร่วมกันในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้ออีกฝ่ายหนึ่งโดยนางสาววันเพ็ญ บรรจงศิลป์ลงนามเป็นพยาน วันที่ 18 ตุลาคม 2536 ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนโจทก์ขึ้นโดยมีหุ้นส่วน 3 คน คือ จำเลยที่ 1 นางสาววันเพ็ญบรรจงศิลป์ และนางวันเพ็ญ เอมสมบุญ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างมี 2 คนคือ จำเลยที่ 1 และนางสาววันเพ็ญ บรรจงศิลป์ และต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน2537 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยนางสาววันเพ็ญ บรรจงศิลป์ ลงนามในใบแต่งทนายความแต่เพียงผู้เดียวมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีผลผูกพันกันหรือไม่ โจทก์ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ไม่เชื่อว่าต้นฉบับสัญญาจะซื้อจะขายได้สูญหายไปและสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายทำขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2536 ส่วนโจทก์จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2536 การตกลงทำสัญญาดังกล่าวจึงอยู่ในช่วงระยะเวลาก่อนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและมีอำนาจลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายในฐานะผู้จะขาย แต่ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 และนางวันเพ็ญ เอมสมบุญ ภริยาจำเลยที่ 1 ซึ่งลงนามในสัญญาดังกล่าวในช่องผู้จะซื้อ ย่อมไม่มีฐานะเป็นตัวแทนโจทก์ จากข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบมาตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายในฐานะผู้จะขายและจำเลยที่ 1 ลงนามร่วมกับนางวันเพ็ญ เอมสมบุญ ภริยาของตนในฐานะผู้จะซื้อเป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่อให้นางสาววันเพ็ญ บรรจงศิลป์หุ้นส่วนนำไปแสดงเพื่อขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามที่จำเลยที่ 1 อ้างแต่ไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ยืมได้ สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่งโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share