คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8523/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับพวกนำรถจักรยานยนต์มาที่บริษัทผู้เสียหายในครั้งแรกนั้นก็เพื่อให้ผู้เสียหายจัดไฟแนนซ์รถจักรยานยนต์ให้ จึงมิใช่เป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด ต่อมาหลังจากจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายแล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อของผู้เสียหายไป จากนั้นจำเลยใช้มีดแทงหลังกับจับศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับโถส้วมหลายครั้งจนผู้เสียหายหมดสติไป การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 339, 340 ตรี ริบของกลางและให้จำเลยคืนเงินจำนวน 25,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี มาตรา 83 จำคุก 30 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปี ริบของกลางและให้จำเลยคืนเงินจำนวน 25,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายณรงค์ โปธิ ผู้เสียหายว่า วันเกิดเหตุจำเลยกับนายนุกูลมาพบผู้เสียหายเพื่อนำรถจักรยานยนต์คนรักของจำเลยมาจัดไฟแนนซ์ ผู้เสียหายจึงจัดเตรียมเอกสารเพื่อทำสัญญา ต่อมาผู้เสียหายเดินเข้าห้องน้ำ จำเลยตามมาใช้มีดจี้คอผู้เสียหาย นายนุกูลวิ่งไปปิดประตูสำนักงานบริษัท จากนั้นเกิดการต่อสู้กัน จำเลยกับนายนุกูลช่วยกันเตะลำตัวผู้เสียหายใช้เชือกมัดมือมัดเท้า และใช้สายไฟฟ้ารัดคอผู้เสียหาย แล้วนายนุกูลล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อของผู้เสียหายไป จำเลยทำร้ายผู้เสียหายและลากเข้าห้องน้ำแล้วเอามีดแทงหลังผู้เสียหาย 1 ครั้ง จากนั้นจับศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับโถส้วมหลายครั้งจนผู้เสียหายหมดสติไป ดังนี้ การที่จำเลยกับพวกนำรถจักรยานยนต์มาที่บริษัทผู้เสียหายในครั้งแรกนั้นก็เพื่อให้ผู้เสียหายจัดไฟแนนซ์รถจักรยานยนต์ให้ จึงมิใช่เป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด ต่อมาหลังจากจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายแล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อของผู้เสียหายไป จากนั้นจำเลยได้ใช้มีดแทงหลังกับจับศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับโถส้วมหลายครั้งจนผู้เสียหายหมดสติไป ผู้เสียหายย่อมไม่เห็นจำเลยกับพวกในขณะหลบหนีว่าได้ใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี คงฟังได้เพียงว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share