แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ไม่ได้บัญญัติว่าเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องหยุดกิจการนั้นจะต้องเป็นเหตุรุนแรงถึงขนาดให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น เพียงแต่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ นายจ้างอาจหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้การที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะลูกจ้างในแผนกผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ด้วยเหตุโรงงาน ผลิตชิ้นส่วนที่โจทก์ต้องสั่งซื้อเพื่อนำมาประกอบการผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ประสบอุทกภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนนำส่งแก่โจทก์ได้ ซึ่งเป็นเหตุที่มีผลกระทบโดยตรงต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจในกิจการของโจทก์ ถือว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 66/2555 ลงวันที่ 12 เมษายน 2555
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 66/2555 ลงวันที่ 12 เมษายน 2555
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 โจทก์ได้ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 โดยแจ้งคำสั่งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบในวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โจทก์ได้ประกาศขยายระยะเวลาหยุดการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 โดยแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ต่อมาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554 โจทก์ได้ประกาศขยายการหยุดการผลิตชั่วคราวเพิ่มระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2554 โดยแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ระหว่างหยุดการผลิตชั่วคราวโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้าง แต่พนักงานโจทก์บางส่วนไม่เห็นด้วย อ้างว่าโจทก์ปฏิบัติไม่ชอบด้วยมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติให้พนักงานบางคนทำงาน ทั้งแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบน้อยกว่า 3 วันทำการ ซึ่งจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งที่ 66/2555 ลงวันที่ 12 เมษายน 2555 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างในส่วนที่ขาดอยู่อีกร้อยละ 25 ให้แก่นางวรรณพากับพวกรวม 32 คน เป็นเงิน 41,392.23 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของจำเลยที่ 66/2555 ลงวันที่ 12 เมษายน 2555 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้บัญญัติไว้ว่าเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องหยุดกิจการนั้นจักต้องรุนแรงถึงขนาดให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้นแต่อย่างใด โดยเพียงแต่บัญญัติไว้ว่าหากมีความจำเป็นโดยเหตุสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติเท่านั้น นายจ้างก็อาจหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ สำหรับคดีนี้เมื่อปรากฏว่าโจทก์ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวกับลูกจ้างบางส่วนเฉพาะในแผนกผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ โดยมูลเหตุสืบเนื่องมาจากโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนที่โจทก์ต้องสั่งซื้อเพื่อนำมาประกอบกิจการผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ของโจทก์ประสบเหตุอุทกภัยน้ำท่วมไม่สามารถประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนส่งโจทก์ได้ ซึ่งเหตุดังกล่าวนั้นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจในกิจการของโจทก์ การที่โจทก์หยุดกิจการผลิตบางส่วนเป็นการชั่วคราวดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีความจำเป็นตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดอีกร้อยละ 25 ของค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง จึงไม่ถูกต้อง ที่ศาลแรงงานภาค 2 ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน