แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหนังสือมอบอำนาจในการสั่งซื้อสั่งจ้างได้ระบุชัดแจ้งว่าเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณในระดับจังหวัดข้อ5ก็มีข้อความว่าให้หัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณมอบอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นการมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างได้ในนามตนเองหาใช่เป็นการมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนส่วนราชการผู้มอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทนไม่เมื่อเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทได้มอบอำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเพื่อปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวการที่จำเลยที่1ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของกับโจทก์โดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันได้ปฏิบัติผิดสัญญาย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างที่โจทก์ต้องว่าจ้างผู้อื่นมาทำการตรวจสอบว่าเสาเข็มสามารถบรรทุกน้ำหนักประลัยได้ตรงตามสัญญาหรือไม่และชำระค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสิ่งก่อสร้างตามที่โจทก์จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากันไว้จึงเป็นเรื่องฟ้องให้รับผิดตามข้อสัญญาที่ผูกพันกันอยู่อีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิม193/30ใหม่หาใช่เป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา601ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับมอบอำนาจการสั่งจ้างจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218(พ.ศ. 2515) ข้อ 43 และ 44 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณในระดับจังหวัดในงบประมาณ พ.ศ. 2524พ.ศ. 2523 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2527 โจทก์โดยพันตรีพิมลประเสริฐ ปลัดจังหวัดพัทลุงรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กในราคา 542,395 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันในวงเงิน 27,120 บาท จำเลยที่ 1 ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวเสร็จ ส่งมอบให้โจทก์และได้รับเงินค่าจ้างจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2528 โจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 ตอกเสาเข็มตอม่อสะพานโดยใช้เสาส่งผิดไปจากรูปแบบแปลนและข้อสัญญาที่ห้ามมิให้ใช้เสาส่ง โจทก์สงสัยว่าเสาเข็มแต่ละต้นจะสามารถบรรทุกน้ำหนักปรับได้ไม่ต่ำกว่า 80 เมตริกตันต่อต้น (ที่ถูกคือ 80 เมตริกตันต่อตารางเมตร) ตามสัญญาหรือไม่และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงว่าจ้างภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการตรวจสอบเสียค่าจ้างเป็นเงิน 32,400 บาท และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหล่อคานทดสอบน้ำหนักเป็นเงิน 20,000 บาท รวมเป็นเงิน52,400 บาท ปรากฏว่าเสาเข็มสามารถบรรทุกน้ำหนักประลัยได้เพียง28 เมตริกตันต่อตันไม่ถูกต้องตามสัญญา ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไขความชำรุดบกพร่องโดยเสริมฐานรากเพิ่มเสาเข็มเหล็กและทำตอม่อใหม่เป็นเงิน 230,826 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินจำนวน 283,226 บาท และทวงถามจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดเป็นเงิน 27,120 บาท แก่โจทก์แล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน283,226 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 27,120 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาพิพาทเป็นสัญญาระหว่างสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทซึ่งกระทำในนามจังหวัดพัทลุงกับจำเลยที่ 1โจทก์เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจการสั่งจ้างจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้แก่โจทก์วันที่ 28 สิงหาคม 2527 แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 22 มกราคม 2529เกิน 1 ปี นับแต่วันที่การชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ตอกเสาเข็มกับตอม่อสะพานโดยวิธีธรรมดาไม่ได้ใช้เสาส่ง และโจทก์ได้ทดสอบแล้วว่าเสาเข็มแต่ละต้นสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ไม่ต่ำกว่า 80 เมตริกตัน นับแต่จำเลยที่ 1ส่งมอบงานให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์เปิดใช้สะพานให้ยวดยานแล่นผ่านไปมาตามปกติจนถึงวันฟ้องไม่ปรากฏความชำรุดเสียหายจำเลยที่ 1มิได้ผิดสัญญา และโจทก์รับมอบงานโดยไม่อิดเอื้อน จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิด หากโจทก์สงสัยว่าเสาเข็มไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ไม่ต่ำกว่า 80 เมตริกตันต่อต้น โจทก์ต้องทดสอบในขณะที่จำเลยที่ 1 ตอกเสาเข็มมิใช่เพิ่งจะทดสอบภายหลังจากที่ส่งมอบแล้ว ค่าทดสอบภายหลังส่งมอบงานโจทก์จะต้องเป็นฝ่ายออกเองฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ตอกเสาเข็มโดยใช้เสาส่งทั้งหมดกี่ครั้ง โจทก์เสริมฐานรากอย่างไร เพิ่มเสาเข็มและทำตอม่อจำนวนเท่าใด จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 230,826 บาทเป็นฟ้องเคลือบคลุม และค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถึงจำนวนตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การรับว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ตามฟ้องจริง หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันไม่เกิน 27,120 บาท ตามสัญญา ส่วนดอกเบี้ยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 พร้อมที่จะชำระเงินแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 สั่งห้ามไว้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา หากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด ขอให้จำเลยที่ 2รับผิดเพียง 27,120 บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน283,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิด27,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือมอบอำนาจในการสั่งซื้อหรือสั่งจ้างเอกสารหมาย จ.1 ได้ระบุชัดแจ้งว่าเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทได้มอบอำนาจในการสั่งซื้อหรือสั่งจ้างให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และความตอนต้นของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณในระดับจังหวัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2523 ก็ได้กล่าวนำให้เห็นเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ว่า “โดยที่เป็นการสมควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สมบูรณ์ขึ้นกว่าก่อน คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดระเบียบขึ้นไว้ดังต่อไปนี้”และตามข้อ 5 แห่งระเบียบฉบับนี้ก็มีข้อความว่า “ให้หัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณมอบอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างเกี่ยวกับงานโครงการ หรือราชการซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง โดยมอบให้เต็มวงเงินที่ตนมีอำนาจ” ด้วย แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ว่าคณะรัฐมนตรีมุ่งหมายที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีส่วนร่วมในบริการงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สมบูรณ์ขึ้นกว่าก่อนดังนั้นการมอบอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างที่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ จึงเป็นการมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างได้ในนามของตนเอง หาใช่เป็นการมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนส่วนราชการผู้มอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทนไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทได้มอบอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างให้แก่โจทก์เพื่อปฏิบัติการตามระเบียบฉบับนี้จึงต้องถือว่าเป็นการมอบหมายให้โจทก์มีอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างได้ในนามของโจทก์เอง การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันได้ปฏิบัติผิดสัญญาย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
คดีนี้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและที่โจทก์นำสืบซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างที่โจทก์จะต้องว่าจ้างผู้อื่นมาทำการตรวจสอบว่าเสาเข็มสามารถบรรทุกน้ำหนักประลัยได้ตรงตามสัญญาหรือไม่ และให้ชำระค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสิ่งก่อสร้างตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากันไว้ จึงเป็นเรื่องฟ้องให้รับผิดตามข้อสัญญาที่ผูกพันกันอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ที่แก้ไขใหม่) หาใช่เป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 601 ไม่
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 283,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน27,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ