แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีประนอมหนี้ก่อนมีคำพิพากษาให้ล้มละลายนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่หมดอำนาจและหน้าที่ในคดีล้มละลายจะนำมาตรา 63 มาใช้บังคับไม่ได้
ในคดีที่จำเลยเช่าซื้อทรัพย์ไปจากโจทก์แล้ว ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด ติดกันคดียังพิพาทกันอยู่ว่าฝ่ายใดผิดสัญญาและโจทก์จะเรียกสิ่งของที่เช่าซื้อกลับคืนไปได้ หรือไม่ จำเลยก็ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีอื่น และเจ้าพนักงานเข้ามาดำเนินคดีนี้แทนจำเลย ทั้งได้โอนสิ่งของที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนในคดีนี้เข้าในกองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายตามมาตรา 109 (3) ด้วยนั้น คดีที่พิพาทกันเรื่องเช่าซื้อก็ยังต้องดำเนินต่อไป และยังไม่มีทางที่จะให้โจทก์คดีนี้ไปขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 91 ในชั้นนี้ได้
กรณีฟ้องเรียก ทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยดังเช่นในคดีนี้ เป็นคนละเรื่องกับกรณีเรียกทรัพย์ที่ถูกยึดคืนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 158
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าซื้อเครื่องปรับอากาศไปจากโจทก์แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ๒ งวด ติดกันซึ่งตามสัญญาให้ถือว่าได้เลิกการเช่าและให้โจทก์เอาของคืน โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยคืนของแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะเครื่องปรับอากาศใช้ไม่ได้ จำเลยจึงยึดหน่วงราคาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ
คดียังไม่มีการสืบพยาน ปรากฏว่า จำเลยถูกธนาคารฟ้องขอให้ล้มละลายศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลย และได้โอนเครื่องปรับอากาศซึ่งยึดไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในคดีนี้เข้าในคดีที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์
ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน วินิจฉัยว่า คดีล้มละลายได้ยื่นฟ้องก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ทรัพย์รายนี้อยู่ในครอบครองขชองจำเลย ในการค้าหรือธุรกิจเป็นทางทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่า เป็นทรัพย์ของจำเลย และโจทก์ดก็ยินยอมให้ทรัพย์อยู่ในครอบครองของจำเลย ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๙ (๓) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยึดมาได้ เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปร้องขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๒ ไม่จำต้องพิจารณาคดีโจทก์ต่อไป พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้ยังไม่ยุติว่า ฝ่ายใดผิดสัญญาเช่าซื้อ เรื่องขอรับชำระหนี้ยังไม่เกิน จะยึดทรัพย์รายนี้มาแบ่งได้หรือไม่ยังไม่จะเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าฝ่ายใดผิดสัญญาเท่านั้น พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินคดีต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ระหว่างฎีกา โจทก์ยื่นคำแถลงว่า จำเลยได้ขอประนอมหนี้ ก่อนล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงหมดอำนาจที่จะกระทำแทนจำเลยตามมาตรา ๖๓
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
(๑) การประนอมหนี้ รายนี้ได้กระทำก่อนมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่หมดอำนาจและหน้าที่ในคดีล้มละลาย และยังทำการแทนจำเลยในคดีนี้ได้ จะนำมาตรา ๖๓ ซึ่งใช้สำหรับการประนอมหนี้หลังจากศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วมาบังคับไม่ได้
(๒) หากโจทก์เห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจยึดทรัพย์รายนี้ ตามมาตรา ๑๐๙ (๓) โจทก์จะต้องคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม มาตรา ๑๕๘ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนมีคำสั่งต่อไป ศาลจะมีอำนาจพิจารณาในข้อนี้ก็โดยมีคำร้องขอตามกำหนเวลาภายหลังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ถอนการยึดแล้ว ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยไปเสียเลยดังที่ได้ทำมาในคดีนี้
(๓) คดีนี้ พิพาทกันเรื่องโจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับการที่โจทก์จะเรียกทรัพย์ของโจทก์คืนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๑๕๘ โดยอ้างว่า ทรัพย์ที่ยึดไปไม่ใช่ทรัพย์ตามมาตรา ๑๐๙ (๓) ปัญหาตามมาตรา ๑๐๙ (๓), ๑๕๘ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อศาลวินิจฉัยคดีที่โจทก์จำเลยพิพาทกันอยู่นี้เสร็จสิ้นลงไปก่อนว่าฝ่ายใดผิดสัญญา
(๔) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจวินิจฉัยเพียงว่า ทรัพย์รายนี้เป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๐๙ (๓) หรือไม่เท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาวินิจฉัยข้อพิพาทว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกตัวทรัพย์คืนจากจำเลยนี้ซึ่งไม่ใช่ปัญหาในคดีที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๑ อันจะต้องทำต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยังไม่มีทางที่จะให้โจทก์ไปขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นนี้ได้ ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัยชี้ขาด
จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์