คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8495/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายแสดงเจตนาสละสิทธิเรียกร้องในหนี้บางส่วนที่มีต่อจำเลยทั้งสอง โดยยังติดใจในหนี้อีกเพียง 500,000 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายอีก ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 2,352,243 บาท แก่ผู้เสียหาย และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องโดยพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ผู้มิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 335 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 2,852,243 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 17 กระทง เป็นจำคุกคนละ 17 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 ปี 6 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 2,852,243 บาท แก่ผู้เสียหาย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองคืนเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหายแล้ว จึงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวนที่ยังไม่ได้คืนอีก 2,352,243 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ศาลชั้นต้นได้นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ซึ่งศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังแล้วจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลได้อธิบายฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งมีทนายความฟังอีกครั้งหนึ่ง จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ทั้งยังเลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 มีนาคม 2560 ซึ่งในวันดังกล่าว โจทก์ จำเลยทั้งสอง และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล และได้มีการอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง จึงเห็นได้ว่า ในการดำเนินกระบวนพิจารณามาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งมีการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองมีทนายความมาศาลด้วยทุกครั้ง จำเลยทั้งสองย่อมต้องได้ปรึกษาทนายจำเลยทั้งสองถึงรูปคดีและแนวทางการต่อสู้คดีแล้ว เชื่อว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ เพราะหากคำรับสารภาพไม่เป็นไปตามที่จำเลยทั้งสองสมัครใจเนื่องจากถูกหลอกลวงโดยผู้เสียหายหรือบุคคลอื่น จำเลยทั้งสองย่อมมีโอกาสปรึกษาทนายความ และแถลงคัดค้านต่อศาลชั้นต้นได้ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษา แต่ไม่ปรากฏว่าในวันอ่านคำพิพากษาจำเลยทั้งสองได้แถลงคัดค้านถึงคำให้การรับสารภาพว่าไม่ถูกต้องอย่างใด กระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินมาจึงถูกต้องแล้ว จำเลยทั้งสองไม่อาจขอแก้ไขคำให้การจากที่รับสารภาพมาเป็นให้การปฏิเสธเพื่อขอต่อสู้คดีใหม่ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง ทั้งไม่เข้าเกณฑ์ในการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างไม่ฎีกาจึงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้เสียหายฉ้อโกงภริยาตนเอง โดยให้จำเลยทั้งสองบวกเงินค่าซื้อปลาเพิ่มเพื่อนำไปให้ภริยาน้อย ทำนองว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำความผิดนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาซึ่งขัดกับที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 เคยยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้วินิจฉัยนั้นไม่ชอบอย่างไร แต่จำเลยที่ 2 กลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นกล่าวในอุทธรณ์ขึ้นฎีกาซ้ำอีก จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ตัดสินไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถูกผู้เสียหายหลอกลวงให้รับสารภาพ ทั้งที่จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคแรก (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาทที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี เป็นการวางโทษขั้นต่ำตามกฎหมาย ไม่อาจวางโทษให้ต่ำลงกว่านี้ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหาย 17 ครั้ง เป็นเงินจำนวนมากถึง 2,852,243 บาท ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำผิดติดนิสัย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายก็เป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เสียหายอยู่แล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาประการอื่นของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายแถลงว่า หากจำเลยทั้งสองชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหาย 500,000 บาท ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองอีก ถือว่าผู้เสียหายได้แสดงเจตนาสละสิทธิเรียกร้องในหนี้บางส่วนที่มีต่อจำเลยทั้งสอง โดยยังติดใจในหนี้อีกเพียง 500,000 บาท เท่านั้น ซึ่งผู้เสียหายสามารถกระทำได้โดยชอบ และเมื่อได้แสดงเจตนาเช่นนั้นต่อจำเลยทั้งสองแล้วย่อมมีผลผูกพัน ต่อมาเมื่อจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวนที่ยังไม่ได้คืนอีก 2,352,243 บาท แก่ผู้เสียหาย และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง โดยพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ผู้มิได้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 2,852,243 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share