แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารที่ก่อตั้งและจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีสาขาในประเทศไทยโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยได้ จึงเป็นธนาคารพาณิชย์ตามความหมายของมาตรา 4 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และได้รับยกเว้นให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารสาขาของโจทก์ในประเทศไทยจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลได้ ตามมาตรา 12 (4) ข แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทโดยการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เพราะการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ธนาคารเจ้าหนี้สามารถซื้อทรัพย์ของลูกหนี้ได้ก็เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ของลูกหนี้ มิให้เจ้าหนี้ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือต่างด้าวต้องได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเช่นเจ้าหนี้ทั่วไป ทั้งยังเป็นหลักประกันสำหรับความเสมอภาคของเจ้าหนี้ทั้งหลายในการประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรี แต่อย่างไรก็ตามโจทก์มีหน้าที่จะต้องจัดการกับที่ดินดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ในการเอาชำระหนี้ที่ค้างเท่านั้น ไม่อาจนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้ เนื่องจากโจทก์ยังคงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้แก่บุคคลต่างด้าว การที่โจทก์จะสามารถถือกรรมสิทธิ์ต่อไปหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อมาดังกล่าวได้แค่ไหนเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องจะไปว่ากล่าวกันตามกฎหมายต่างหาก แต่สำหรับจำเลยทั้งสองในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่โดยสุจริตที่จะต้องชำระหนี้หรือถูกบังคับชำระหนี้ที่ก่อขึ้น ไม่อาจยกประมวลกฎหมายที่ดินขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธการชำระหนี้และการถูกบังคับคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทและส่งมอบให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทและส่งมอบให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 11537, 88205, 88206 ตำบลดุสิต (บางซื่อฝั่งใต้)และสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 132/14 บนที่ดินดังกล่าว และให้ส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปและส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับกรมบังคับคดีเป็นโมฆะหรือไม่ ในเรื่องนี้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 12 (4) ข บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการดังต่อไปนี้…(4) ซื้อหรือมีไว้เป็นประจำซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่… (ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้หรือจากการประกันการให้สินเชื่อหรือจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารพาณิชย์นั้นจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์” โดยมาตรา 4 วรรคสอง ให้คำนิยาม “ธนาคารพาณิชย์ หมายความว่าธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ และหมายความรวมถึงสาขาของธนาคารต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ด้วย” ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นธนาคารที่ก่อตั้งและจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีสาขาในประเทศไทยโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยได้ จึงเป็นธนาคารพาณิชย์ตามความหมายของมาตรา 4 วรรคสอง และได้รับยกเว้นให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารสาขาของโจทก์ในประเทศไทยจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลได้ ตามมาตรา 12 (4) ข แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากกรมบังคับคดีจึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เพราะการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ธนาคารเจ้าหนี้สามารถซื้อทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ก็เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ของลูกหนี้ มิให้เจ้าหนี้ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือต่างด้าวต้องได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเช่นเจ้าหนี้ทั่วไปที่มีโอกาสปกป้องราคาทรัพย์มิให้ขายในราคาที่ต่ำเกินไป หรือไม่มีโอกาสที่จะบังคับคดีได้เพราะไม่มีคนเข้ามาประมูลซื้อก็แล้วแต่ ทั้งยังเป็นหลักประกันสำหรับความเสมอภาคของเจ้าหนี้ทั้งหลายในการประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรี แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลที่มีสัญชาติต่างด้าวซื้อที่ดินได้โดยอาศัยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ แล้ว ก็มีหน้าที่จะต้องจัดการกับที่ดินดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ในการเอาชำระหนี้ที่ค้างเท่านั้น ไม่อาจนำที่ดินดังกล่าวไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้ เนื่องจากโจทก์ยังคงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้แก่บุคคลต่างด้าว การที่โจทก์จะสามารถถือกรรมสิทธิ์ต่อไปหรือสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้แค่ไหนเพียงใดย่อมต้องดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องจะว่ากล่าวบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งต่างหาก แต่สำหรับจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่โดยสุจริตที่จะต้องชำระหนี้หรือถูกให้บังคับเอาชำระหนี้ที่ก่อขึ้นจากทรัพย์สินของตนโดยไม่อาจยกบทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดินขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธการชำระหนี้และไม่ต้องถูกบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวมเป็นเงิน 5,000 บาท.