แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท ก. ซึ่งดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินและบ้านขาย เป็นหนี้ธนาคารโจทก์จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยบริษัท ก. ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 374 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จัดสรรขายนั้นให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ และในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้มีข้อตกลงว่า เมื่อผู้ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายใดได้ชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตกลงซื้อให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อนั้น อาคารใดที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยโจทก์รับจะดำเนินการก่อสร้างให้เรียบร้อย เมื่อโจทก์จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปหมดแล้ว ถ้าได้เงินเกินกว่าจำนวนที่บริษัท ก. เป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเท่าใด โจทก์ยอมแบ่งเงินส่วนที่เกินนั้นแก่บริษัท ก. ครึ่งหนึ่งต่อมาเมื่อโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากบริษัท ก. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ได้ดำเนินการจัดการก่อสร้าง ปรับปรุง เพิ่มเติมอาคารจนแล้วเสร็จแล้วขายไป พฤติการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรเข้าลักษณะเป็นรายรับตามประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร โจทก์ต้องนำรายรับนี้มาเสียภาษีการค้า
การประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่กิจการที่ผิดกฎหมาย เพียงแต่มีกฎหมายห้ามบุคคลบางประเภทไม่ให้กระทำเท่านั้นฉะนั้น การประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 หรือไม่ก็ตามก็หาทำให้โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้แจ้งประเมินภาษีการค้าแก่โจทก์ อ้างว่าโจทก์มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันได้มาจากการประนีประนอมยอมความกับบริษัทกุลเศรษฐศิริ จำกัด แต่โจทก์มิได้นำรายรับดังกล่าวไปยื่นเสียภาษีการค้าจึงประเมินเรียกเก็บภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องแล้ว ซึ่งโจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ เพราะการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ไม่ใช่เป็นการค้าเพื่อหากำไร และโจทก์เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ รายรับที่โจทก์ได้มาจึงเป็นรายรับที่ได้จากการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยจะเรียกเก็บภาษีอากรไม่ได้ ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าในประเภท ๑๑ การค้าอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นนี้มีว่า การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาแล้วทำการขายต่อไปนั้น ถือว่า โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอันจะทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าในฐานะผู้ประกอบการค้าในประเภทการค้า ๑๑ การค้าอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เหตุที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเนื่องมาจากบริษัทกุลเศรษฐศิริ จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ประสบอุปสรรคในการจัดสรรที่ดินขาย และถูกผู้ซื้อที่ดินและอาคารกับธนาคารพาณิชย์อื่นฟ้องคดีหลายสิบราย จึงได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.๑ กันขึ้นเมื่อได้พิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยตลอดแล้วปรากฏตามสัญญาข้อ ๔ ระบุให้ธนาคาร (โจทก์) จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อจากลูกหนี้ (บริษัทกุลเศรษฐศิริ จำกัด) ในเมื่อผู้ซื้อจากลูกหนี้ได้ชำระเงินที่ยังเหลือให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้นแล้ว อาคารพาณิชย์คูหาใดที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย ธนาคารรับจะดำเนินกรก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อย ตามสัญญาข้อนี้แสดงว่า ธนาคารโจทก์ได้เข้ารับช่วงกิจการของบริษัทกุลเศรษฐศิริ จำกัด ลูกหนี้ของตนโดยรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อผู้ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากลูกหนี้ และรับเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของโจทก์เองที่จะดำเนินการจัดการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสืบต่อจากบริษัทกุลเศรษฐศิริ จำกัด ด้วยวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันคือมุ่งหากำไรในการจำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ หากมีผลกำไรเกิดขึ้นจากการขายดังกล่าว โจทก์กับบริษัทกุลเศรษฐศิริ จำกัดได้ตกลงแบ่งผลกำไรกันคนละครึ่ง ดังจะเห็นได้จากสัญญาข้อ ๖ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อธนาคารได้จำหน่ายไปหมดสิ้น ได้เงินสุทธิจากการจำหน่ายเกินกว่ายอดหนี้สินของลูกหนี้บวกกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปีนับแต่วันทำสัญญาตลอดไปจนถึงวันจำหน่ายได้แล้ว เงินส่วนเกินนั้นจะเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม ธนาคารยอมคืนให้แก่ลูกหนี้ครึ่งหนึ่งของเงินส่วนเกินนั้นทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า ธนาคารทรงสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการกำหนดราคาขาย ในกรณีที่ธนาคารเห็นว่าการปรับปรุงสภาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ดีขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในขณะโอนชำระหนี้จะเป็นประโยชน์แก่การขายยิ่งกว่าการขายในสภาพที่เป็นอยู่ ธนาคารทรงสิทธิเด็ดขาดที่จะลงทุนปรับปรุงสภาพที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ดีขึ้นด้วยการปลูกสร้างอาคารขึ้นใหม่ก็ดี ด้วยการดัดแปลงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างเดิมที่ปลูกสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ดี ด้วยการปรับปรุงถนน ทางระบายน้ำระบบไฟฟ้าและน้ำประปา ตลอดจนการปรับปรุงอย่างอื่น ๆ บรรดาที่ธนาคารเห็นสมควรก็ดี ย่อมกระทำได้ทั้งสิ้น เห็นว่า “เงินสุทธิ” ตามความหมายในสัญญาข้อ ๖ก็คือเงินผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ซึ่งธนาคารเป็นผู้ดำเนินการโดยลงทุนก่อสร้าง ปรับปรุง ดัดแปลง ต่อเติมสิ่งปลูกสร้างและเป็นผู้กำหนดราคาขายให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ความจากพยานจำเลยว่า จากการสอบปากคำบริษัทกุลเศรษฐศิริ จำกัด โดยผู้แทน ได้ให้การว่าธนาคารโจทก์เป็นผู้ดำเนินการจัดการก่อสร้างปรับปรุง เพิ่มเติมอาคารจนเสร็จแล้วโอนขายไป พฤติการณ์ที่โจทก์ดำเนินการเช่นที่กล่าวมาถือได้ว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร เข้าลักษณะเป็นรายรับตามประเภทการค้า ๑๑การค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรฉะนั้นโจทก์จึงต้องนำรายรับนี้มาเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า ๑๑การค้าอสังหาริมทรัพย์
สำหรับปัญหาข้อที่โจทก์ฎีกาว่า การดำเนินการค้าอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ประมวลรัษฎากรคงไม่ต้องการที่จะเรียกเก็บอากรจากรายรับที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายนั้น เห็นว่าการประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์เป็นการประกอบกิจการที่บุคคลทั่ว ๆ ไปทำได้ตามกฎหมายเพียงแต่ห้ามบุคคลบางประเภทไว้เท่านั้น เช่นกรณีนี้ก็ห้ามธนาคารมิให้ประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ จะนำเอาไปเปรียบเทียบกับการรับจ้างค้าประเวณีหรือรับจ้างกระทำการใด ๆ ที่ผิดกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่ เพราะกิจการดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน บุคคลทุกคนยอมประกอบกิจการดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น การกระทำของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือไม่ก็ตาม ก็หามีผลให้โจทก์ได้รับยกเว้นการเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรแต่ประการใดไม่
พิพากษายืน