คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สมาชิกประเภท 1 ต้องมีจำนวนเท่ากับประเภท 2 เฉพาะในระยะเวลาเริ่มแรกเท่านั้น ไม่ใช่ต้องเท่ากันไปทั้งสิบปีสมาชิกประเภท 2 จะตั้งเพิ่มจากจำนวนเริ่มแรกก็ไม่ได้ลดก็ไม่ได้เว้นแต่จะเข้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา116ส่วนสมาชิกประเภทที่ 1 ย่อมต้องมีจำนวนเป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง
การร้องคัดค้านการเลือกตั้งนั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาได้ตามพ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 60,61 รัฐธรรมนูญ มาตรา 99,113,114
ผู้เลือกตั้งย่อมมีสิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้งได้เพราะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายทางศาล

ย่อยาว

คดี 6 สำนวนนี้ผู้ร้องร้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่าการเลือกตั้งจังหวัดพระนครและธนบุรีเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 มิได้เป็นไปโดยชอบเพราะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม. 115 โดยที่สมาชิกประเภทที่ 2 มี 123 คน แต่การเลือกตั้งรายพิพาทสมาชิกประเภทที่ 1 เพิ่มเป็น 160 คน เฉพาะเขตพระนครซึ่งจะเลือกได้ 6 คนก็เพิ่มเป็น 9 คน และเขตธนบุรี จะเลือกได้ 2 คนก็เลือกเป็น 3 คนขอให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

จำเลยต่อสู้ว่าการเลือกตั้งชอบแล้วกับตัดฟ้องว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ และศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดี

ศาลแพ่งสั่งให้รวมพิจารณา คู่ความแถลงรับกันว่าเมื่อเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 สมาชิกประเภทที่ 2 มี 123 คน และได้เลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ขึ้น 123 คน เท่ากับเป็นสมาชิกจากพระนคร 6 คน จากธนบุรี 2 คน ในการเลือกตั้งรายพิพาทนี้เลือกสมาชิกประเภทที่ 1 ขึ้น 160 คนเป็นสมาชิกจากพระนคร 9 คน จากธนบุรี 3 คน สมาชิกประเภทที่ 1 ที่เลือกตั้งครั้งพิพาทนี้แต่ละจังหวัดมีจำนวนหนึ่งคนต่อพลเมืองแสนห้าหมื่นคนคู่ความไม่สืบพยานศาลแพ่งจึงทำความเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องศาลมีอำนาจพิจารณาได้ แต่ควรยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า

(1) ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีนี้เพราะเป็นการขอให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม ก.ม.เลือกตั้ง ม. 61 ซึ่งในมาตรานี้ประกอบด้วย มาตรา 60 บัญญัติให้ศาลเป็นผู้รับคำร้องคัดค้านแล้วพิจารณาส่งความเห็นให้ศาลฎีกาวินิจฉัย นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 99, 113, 114 ก็สนับสนุนให้เห็นว่าศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญในปัญหาคดีนี้ได้ มีข้อยกเว้นแต่เฉพาะเรื่องภายในวงงานของสภาและในเรื่องกฎหมายใดขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น

(2) โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อศาลได้เพราะ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ม. 60 บัญญัติให้โจทก์ร้องต่อศาลโจทก์จึงเป็นบุคคลที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม วิ.แพ่ง ม. 55

(3) ฟ้องของโจทก์เท่าที่ได้บรรยายมานั้นชัดแจ้งแล้ว

(4) จำนวนสมาชิกในการเลือกตั้งรายพิพาทนี้ถูกต้องตามกฎหมายเลือกตั้งแล้วคงมีปัญหาเฉพาะว่าสมาชิกประเภทที่ 1 จำเป็นจะต้องมีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ 2 หรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ ม. 115 ประกอบกับ ม. 116 แสดงว่าจำนวนสมาชิกประเภทที่ 2 นั้นจะเพิ่มก็ไม่ได้ ลดก็ไม่ได้ จนกว่าจะถึงกำหนดที่บัญญัติไว้ตาม ม. 116 จำนวนสมาชิกประเภท 1 และ 2 จะมีจำนวนเท่ากันแต่ในเวลาเริ่มแรกเท่านั้น หาจำต้องเท่ากันตลอดระยะสิบปีไม่ ส่วนต่อไปจำนวนสมาชิกประเภทที่ 2 ย่อมต้องลดไปตาม ม. 116 แต่จะเพิ่มให้เท่ากับจำนวนสมาชิกประเภทที่ 1 ไม่ได้ ฉะนั้นการเลือกตั้งรายพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว มิได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสีย

Share