คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8476/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27ได้แยกการกระทำความผิดไว้หลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิด อยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน ตามคำฟ้องและทางพิจารณา ปรากฏว่าเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรคือของที่นำเข้ามาเป็นของที่ต้องเสียภาษีมิได้ลักลอบนำเข้าแต่เป็นการนำมาผ่านศุลกากรโดยสำแดงรายการสินค้าว่าเป็น ซี่ลวดรถจักรยาน ไม่มีเครื่องหมายการค้า อันเป็นความเท็จซึ่งความจริงสินค้าดังกล่าวเป็นซี่ลวดรถจักรยานยนต์เพื่อให้เสียค่าภาษีน้อยกว่าที่จะพึงต้องเสียโดยมีเจตนาจะหลักเลี่ยงค่าภาษี กรณีจึงมีความผิดตามมาตรา 27 การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ใน ฐานะผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยรู้เห็นให้พนักงานออกของหรือชิปปิ้งนำต้นฉบับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวซึ่งได้มีการลบคำว่า “NOBRAND”ออก และเติมเครื่องหมายการค้ารูปดาวห้าแฉกไปยื่นต่อ ก. นายตรวจศุลกากร ให้ตรวจปล่อยสินค้าซี่ลวดและ ก. ได้ตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวไป จึงเป็นการร่วมกันใช้ เอกสารราชการปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ก. และกรมศุลกากร การใช้เอกสารราชการปลอมดังกล่าวเป็นการ กระทำความผิดต่างฐานกันกับความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร แม้มีความมุ่งหมายในการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็เป็น การกระทำต่างวาระกัน และในแต่ละวาระก็เป็นความผิด สำเร็จแล้ว จึงเป็นการกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 32, 33, 83, 91 และสั่งริบของกลาง รวมทั้งสั่งจ่าย เงินสินบนและเงินรางวัลในการจับแก่ผู้นำจับและผู้จับ และนับโทษ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อจากโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5340/2532 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นเงินสี่เท่าของราคาสินค้าที่รวมอากรแล้วเป็นเงิน 2,510,978.92 บาท และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265, 83 อีกกระทงหนึ่ง ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังจำเลยที่ 2 และที่ 3 แทนค่าปรับมีกำหนด 2 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเงินสินบนร้อยละสามสิบและเงินรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของเงินที่ได้จากการขายของกลาง หากไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 5, 8 ส่วนที่โจทก์ ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ 9683/2532 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2527 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 นำสินค้าจำพวกซี่ลวดที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 3พนักงานออกของชิปปิ้งดำเนินการออกของแทน จำเลยที่ 3 ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 057-61533ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สำแดงรายการสินค้าว่าเป็นซี่ลวดและหัวซี่ลวด(SPOKES & NIPPLES) รถจักรยาน ต่อมาภายหลังมีการเติมเครื่องหมายการค้ารูปดาวห้าแฉก ลงในต้นฉบับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าที่ยื่นไว้นั้น และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม2527 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจปล่อยสินค้าซี่ลวดดังกล่าวออกจากกรมศุลกากร โดยบรรทุกรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 82-9962กรุงเทพมหานคร และถูกเจ้าพนักงานจับพร้อมยึดสินค้าซี่ลวดเป็นของกลางจากการตรวจสอบปรากฏว่าคู่ฉบับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 057-61533 ไม่มีเครื่องหมายการค้ารูปดาวห้าแฉกแต่มีคำว่า “NO BRAND” ซึ่งหมายถึงไม่มีเครื่องหมายการค้าคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 หรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 นำสินค้าซี่ลวดของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้นเป็นสินค้าซี่ลวดใช้ประกอบรถจักรยานยนต์จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจผลิตรถจักรยานมานานหลายปี ได้มอบให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานออกของหรือชิปปิ้งดำเนินการออกของโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าสินค้าที่นำเข้ามานั้นเป็นสินค้าซี่ลวดรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีอัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ 26 การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จงใจสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าอันเป็นเท็จว่าเป็นสินค้าซี่ลวดรถจักรยานซึ่งมีอัตรากำไรมาตรฐานร้อยละ 11 ดังนั้น อัตราค่าภาษีสินค้าซี่ลวดรถจักรยานยนต์จะสูงกว่าอัตราค่าภาษีสินค้าซี่ลวดรถจักรยาน และราคาของสินค้าซี่ลวดรถจักรยานยนต์ก็สูงกว่าราคาสินค้าซี่ลวดรถจักรยานด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะชักจูงใจให้พนักงานเจ้าหน้าที่หลงผิดในอัตรากำไรมาตรฐานตามที่สำแดงไว้ กรณีจึงเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการออกของแทน โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีแล้วจึงส่งมอบให้นำของออกไปกรณีมิใช่ไม่ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรียกเก็บภาษีก่อนตรวจปล่อย จึงไม่เข้าข่ายที่จะถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 นั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ได้แยกการกระทำความผิดไว้หลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกัน ตามคำฟ้องและทางพิจารณาปรากฏว่า เป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร คือของที่นำเข้ามาเป็นของที่ต้องเสียภาษีมิได้ลักลอบนำเข้า แต่เป็นการนำมาผ่านศุลกากรโดยสำแดงรายการสินค้าว่าเป็นซี่ลวดรถจักรยาน ไม่มีเครื่องหมายการค้าอันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงสินค้าดังกล่าวเป็นซี่ลวดรถจักรยานยนต์เพื่อให้เสียค่าภาษีน้อยกว่าที่จะพึงต้องเสียโดยมีเจตนาจะหลีกเลี่ยงค่าภาษี กรณีจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือใช้เอกสารราชการปลอมซึ่งซ้ำซ้อนกับการปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรเพื่อเสียภาษีนำของออกจากอารักขาของกรมศุลกากรนั้นเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการส่วนความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยรู้เห็นให้พนักงานออกของหรือชิปปิ้งนำต้นฉบับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวซึ่งได้มีการลบคำว่า “NO BRAND” ออกและเติมเครื่องหมายการค้ารูปดาวห้าแฉกไปยื่นต่อนายโกวุฒิ สุรินทราบริบูรณ์นายตรวจศุลกากร ให้ตรวจปล่อยสินค้าซี่ลวดและนายโกวุฒิได้ตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวไป ตามบันทึกการตรวจปล่อยในสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นการร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายโกวุฒิ และกรมศุลกากรการใช้เอกสารราชการปลอมดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดต่างฐานกันกับความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรแม้มีความมุ่งหมายในการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็เป็นการกระทำต่างวาระกันและในแต่ละวาระก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว จึงเป็นการกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดโดยเจตนา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐในการจัดเก็บภาษีอากร ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
พิพากษายืน

Share