แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คู่ความตกลงท้ากันว่า หากเสียงข้างมากจากผลการตรวจตามหลักทางการแพทย์ของโรงพยาบาล 3 แห่งระบุว่าโจทก์ที่ 2เป็นบุตรผู้ตาย จำเลยทั้ง 5 ยอมให้โจทก์ที่ 2 รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิ เมื่อคำท้าระบุให้โรงพยาบาล 3 แห่งใช้วิธีตรวจตามหลักการแพทย์ โดยมุ่งเน้นที่จะให้พิสูจน์ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ เป็นประเด็นสำคัญ วิธีการตรวจจึงเป็นเรื่องที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องไปดำเนินการตามที่เห็นสมควรโดยใช้หลักทางการแพทย์เพื่อให้ได้ผลออกมาแน่นอน และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด หาได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นการตรวจพิสูจน์เพียงครั้งเดียวหรือการตรวจพิสูจน์จะต้องกระทำเฉพาะระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรผู้ตายเท่านั้นไม่หากโรงพยาบาลหนึ่งโรงพยาบาลใดเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมโดยได้ทำการตรวจ 2 ครั้ง หรือจะต้องนำบุคคลภายนอกซึ่งอ้างว่าเป็นบิดาที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 มาตรวจพิสูจน์เพื่อให้ได้ผลแน่นอนขึ้น ก็ย่อมกระทำได้ ไม่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำท้า
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าแบ่งทรัพย์สินให้โจทก์ที่ 1จำนวน 13,628,780.44 บาท และแบ่งทรัพย์มรดกของนายปรีชาให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 14,375,630.07 บาท หากแบ่งไม่ได้ ให้ขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน
จำเลยทั้งห้าให้การทำนองเดียวกันว่า นายปรีชาไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 กับนายสมนึก เจนพานิชทรัพย์ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความตกลงท้ากันให้ศาลวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า หากเสียงข้างมากจากผลการตรวจตามหลักทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดีระบุว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายปรีชาผู้ตาย จำเลยทั้งห้ายอมให้โจทก์ที่ 2รับมรดกตามสิทธิคือ 1 ใน 7 ส่วนของทรัพย์มรดกและยอมให้โจทก์ที่ 1ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของนายปรีชาผู้ตาย แต่หากผลการตรวจพิสูจน์เสียงข้างมากระบุว่า โจทก์ที่ 2 มิใช่บุตรของนายปรีชาผู้ตาย โจทก์ทั้งสองยอมถอนฟ้องหรือยอมให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองแพ้คดี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผลการตรวจเสียงข้างมากฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2มิใช่บุตรของนายปรีชาผู้ตาย โจทก์ทั้งสองจึงต้องแพ้คดี พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของนายปรีชา เกตุอร่าม ผู้ตาย กับจำเลยที่ 1 ผลการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ครั้งที่ 1 ระบุว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ได้มีบิดาคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งหมายถึงโจทก์ที่ 2 มิใช่บุตรของนายปรีชา ผู้ตาย ส่วนครั้งที่ 2 ระบุว่า ลายพิมพ์นิ้วมือทางพันธุกรรมของโจทก์ที่ 2 มีความเหมือนกับลายพิมพ์นิ้วมือทางพันธุกรรมของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คิดเป็นจำนวน7 ตำแหน่ง จากจำนวน 12 ตำแหน่ง สำหรับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทำการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ได้ทำการตรวจสอบสายพันธุ์ของนายสมนึก เจนพานิชทรัพย์ ซึ่งอ้างว่าเป็นบิดาที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 เพิ่มเติมจากครั้งแรก ต่อมาทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขอยกเลิกรายงานฉบับเดิม และขอให้ใช้รายงานผลการตรวจครั้งที่ 2 แทน ซึ่งระบุว่า โจทก์ที่ 2 ไม่อาจเป็นพี่น้องร่วมบิดากับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เท่ากับปฏิเสธว่าโจทก์ที่ 2 มิใช่บุตรของนายปรีชา ผู้ตาย ส่วนโรงพยาบาลศิริราชทำการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ 2 ครั้ง แต่ให้ใช้ผลการตรวจครั้งที่ 2 เป็นการตัดสินการตรวจทางพันธุกรรมโดยอ้างว่ามีประสิทธิภาพในการตรวจสูงกว่าซึ่งผลการตรวจครั้งที่ 2 ระบุว่า บิดาที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 จะมีลักษณะพันธุกรรมแตกต่างจากลักษณะพันธุกรรมที่คาดว่าจะเป็นของนายปรีชาผู้ตาย สรุปแล้วผลการตรวจสายพันธุ์ของโรงพยาบาลทั้งสามแห่งดังที่กล่าวมาเสียงข้างมากให้ความเห็นว่า โจทก์ที่ 2 ไม่อาจเป็นบุตรของนายปรีชาผู้ตาย ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ตามคำท้าให้ถือเอาผลการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์เฉพาะระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เท่านั้นว่า บุคคลทั้งห้ามีบิดาคนเดียวกันหรือไม่ การที่โรงพยาบาลนำบุคคลภายนอกมาตรวจพิสูจน์ก็ดีหรือการที่โรงพยาบาลตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมอีกชุดหนึ่งโดยพลการไม่มีคำสั่งศาลก็ดีเป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำท้านั้นเห็นว่า คำท้าตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2540 ระบุให้โรงพยาบาลทั้งสามแห่งใช้วิธีตรวจตามหลักทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นที่จะให้พิสูจน์ว่าโจทก์ที่ 2เป็นบุตรของนายปรีชาผู้ตายหรือไม่ เป็นประเด็นที่สำคัญ ดังนั้น วิธีการตรวจพิสูจน์จึงเป็นเรื่องที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องไปดำเนินการตามที่เห็นสมควรโดยใช้หลักทางการแพทย์เพื่อให้ผลออกมาแน่นอนและตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดหามีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นการตรวจพิสูจน์เพียงครั้งเดียว หรือการตรวจพิสูจน์จะต้องกระทำเฉพาะระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เท่านั้นไม่ หากโรงพยาบาลหนึ่งโรงพยาบาลใดดังกล่าวเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมหรือจะต้องนำบุคคลภายนอกมาตรวจพิสูจน์เพื่อให้ได้ผลแน่นอนยิ่งขึ้นก็ย่อมทำได้ การที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนำนายอาทิตย์ ตติยาวงษ์ชัยบุตรอันเกิดจากโจทก์ที่ 1 กับนายสมนึกมาตรวจพิสูจน์ หรือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำนายสมนึกมาตรวจพิสูจน์หรือโรงพยาบาลศิริราชทำการตรวจพิสูจน์อีกชุดหนึ่ง โดยอ้างว่ามีประสิทธิภาพในการตรวจสูงกว่าครั้งแรกเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ไม่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำท้า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน