แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ธนาคารฟ้องขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินตามตั๋วแลกเงิน โจทก์ได้ให้การต่อสู้คดีว่า นายมานิตย์ได้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินให้ธนาคารฯ แทนโจทก์ตามเช็คเลขที่ เค.0343109 แล้ว ข้อที่ว่าธนาคารได้รับเช็คชำระเงินตามตั๋วแลกเงินแล้วหรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญในคดี ฉะนั้น ที่จำเลยเบิกความในฐานะผู้จัดการธนาคารฯ ว่าได้รับแต่ตั๋วแลกเงินจากโจทก์ ไม่มีเช็คกำกับด้วย อันเป็นความเท็จ ถือได้ว่าจำเลยได้เบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีการกระทำของจำเลยจึงมีมูลเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
วันเวลาเกิดเหตุในฟ้องคดีอาญาเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องหาใช่ข้อสารสำคัญไม่ และเมื่อการพิจารณาเป็นเพียงชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งจำเลยยังมิได้ให้การ ยังไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงข้อต่อสู้จึงยกเอาเหตุข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องขึ้น ยกฟ้องในชั้นนี้ยังไม่ได้
(อ้างฎีกาที่ 93/2513)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะเป็นโจทก์ผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ได้อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่าจำเลยไม่เคยได้รับเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาตรัง เลขที่ เค.๐๓๔๓๑๐๙ที่โจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาตรัง ซึ่งจำเลยรู้ดีว่าเป็นข้อความเท็จ ความจริงจำเลยได้รับชำระหนี้ด้วยเช็คดังกล่าวไว้จากโจทก์แล้ว คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดี เป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อถ้อยคำอันเป็นเท็จของจำเลยว่าเป็นความจริง และเชื่อว่าโจทก์ยังเป็นหนี้ค่าตั๋วแลกเงินอยู่ จึงพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี และจำเลยได้บังอาจใช้หมึกขีดทับปิดรายการเช็คเลขที่ เค. ๐๓๔๓๑๐๙ ในสมุดโลคอลบิลล์บุ๊คซึ่งเป็นข้อความที่แท้จริงเสีย เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงว่าเป็นรายการที่ไม่มีการชำระหนี้ตามเช็คเลขที่ดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหายและจำเลยได้บังอาจเบียดบังเอาเช็คและจำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คดังกล่าวไว้เป็นอาญาประโยชน์ส่วนตัวหรือให้บุคคลอื่นเสีย โดยไม่นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารฯ ตามหน้าที่ของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗, ๑๘๐, ๒๖๔, ๒๖๙, ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๒๖/๒๕๐๙ หมายเลขแดงที่ ๔๕๘/๒๕๐๙ ของศาลจังหวัดตรัง ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีโดยวินิจฉัยว่าเมื่อธนาคารยังยึดถือตั๋วแลกเงินอยู่ก็แสดงว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ยังมิได้ชำระเงินตามตั๋วนั้น มิได้วินิจฉัยโดยอาศัยคำเบิกความของจำเลยที่ว่ามิได้รับเช็คจากโจทก์ คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสำคัญในคดีนอกจากเหตุตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยเบิกความเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๙แต่ตามสำนวนคดีนั้นปรากฏว่าจำเลยเบิกความเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๐๙ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ข้อหาฐานเบิกความเท็จไม่มีมูล ข้อหาฐานยักยอกเงินตามเช็คก็ปรากฏว่ายังมิได้มีการเบิกเงินตามบัญชีของนายมานิตย์ จึงไม่มีการยักยอกเงินตามเช็คนั้น ส่วนข้อหาฐานยักยอกตั๋วเช็คและความผิดเกี่ยวกับเอกสารนั้นตามพยานหลักฐานมีช่องทางน่าคิดว่า แม้จะยังไม่ได้มีการจ่ายเงินตามเช็คดังคำเบิกความของนายมานิตย์ แต่โจทก์ก็ได้มอบเช็คของนายมานิตย์ให้ธนาคารพร้อมตั๋วแลกเงินดังกล่าวแล้ว ข้อหาดังกล่าวนี้พอมีเค้ามูล สมควรจะได้มีการพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงข้อนี้ต่อไปก่อน พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาฐานยักยอกเช็คและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓,๒๖๔, ๒๖๙ เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดี และวันเวลาเกิดเหตุที่บรรยายในฟ้องไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ โดยเฉพาะคดีนี้วันเบิกความเท็จของจำเลยมีเพียงครั้งเดียวและปรากฏแน่นอนอยู่ในสำนวนศาลแล้ว จำเลยไม่มีทางที่จะหลงข้อต่อสู้ ขอให้ประทับฟ้องในข้อหาฐานเบิกความเท็จด้วย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้เอาเช็คเลขที่เค.๐๓๔๓๑๐๙ ที่นายมานิตย์เป็นผู้สั่งจ่ายชำระหนี้ให้โจทก์โดยใช้ให้แก่นายมนัสแล้ว นายมนัสจำเลยได้ลงบัญชีไว้ ต่อมาปรากฏว่าได้มีการขีดฆ่าเลขประจำเช็คในบัญชีออก แล้วจำเลยได้เบิกความในคดีของศาลจังหวัดตรังดังกล่าวว่า ได้รับแต่ตั๋วแลกเงินจากโจทก์ไม่มีเช็คกำกับด้วย อันเป็นความเท็จ และเห็นว่าคดีที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาจังหวัดตรัง ฟ้องขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินตามตั๋วแลกเงิน โจทก์ได้ให้การต่อสู้คดีว่า นายมานิตย์ได้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินให้ธนาคารฯ แทนโจทก์ ตามเช็คเลขที่ เค.๐๓๔๓๑๐๙ แล้วนั้น ข้อที่ว่าธนาคารได้รับเช็คชำระเงินตามตั๋วแลกเงินแล้วหรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญในคดี ฉะนั้นที่จำเลยเบิกความในฐานะผู้จัดการธนาคารฯ ว่า ได้รับแต่ตั๋วแลกเงินจากโจทก์ไม่มีเช็คกำกับด้วย อันเป็นความเท็จ ถือได้ว่าจำเลยได้เบิกความเท็จ อันเป็นข้อสำคัญในคดี เหตุที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวหยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่า ธนาคารฯยังยึดถือตั๋วแลกเงินอยู่ขึ้นวินิจฉัยเป็นเหตุผลรับฟังว่าโจทก์ยังมิได้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินก็เพราะจำเลยเบิกความเท็จ ปฏิเสธว่ามิได้รับเช็คนั่นเอง ถ้าหากจำเลยเบิกความจริงว่าได้รับเช็คแล้ว ศาลก็หาจำต้องหยิบยกเอาเหตุที่ตั๋วแลกเงินอยู่ในความยึดถือของธนาคารฯ ขึ้นวินิจฉัยไม่ เพราะข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า โจทก์ได้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินให้ธนาคารแล้ว การกระทำของจำเลยดังได้ความนี้มีมูลเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ชอบที่ศาลจะประทับฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ไว้พิจารณา
ส่วนข้อที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยเบิกความเท็จเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ แต่ตามสำนวนคดีแพ่งปรากฏว่าจำเลยเบิกความเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๐๙ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรค ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๓ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องคดีอาญาเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องหาใช่ข้อสารสำคัญไม่ ดังนัยฎีกาที่ ๙๓/๒๕๑๒ ทั้งทางพิจารณาในขณะนี้เป็นเพียงชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งจำเลยยังมิได้ให้การ ยังไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงข้อต่อสู้จึงยกเอาเหตุข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องขึ้นยกฟ้องในชั้นนี้ยังไม่ได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ไว้พิจารณาอีกข้อหาหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์