คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก. บุตรโจทก์สมรสกับ ท. ก. และ ท. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินสมรสให้ซึ่งกันและกัน ก. ตายก่อน ท. จึงไปขอรับมรดกต่อมา ท. ตายก่อนตาย ท. ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ที่ได้รับมรดกมาทั้งหมดให้จำเลยดังนี้ แม้โจทก์จะเป็นทายาทโดยธรรมของ ก. ก็ต้องถูกตัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก อ้างว่าเป็นทายาทของ ก. จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในกองมรดก เพราะ ก. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของ ก. ให้ ท. ทั้งหมดแล้วซึ่งจำเลยจะส่งศาลในวันพิจารณา นั้น เป็นคำให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ไม่เคลือบคลุม
จำเลยมิได้ให้การถึงว่าจำเลยนำเอาพินัยกรรมไปขอรับมรดกการที่จำเลยนำสืบว่าพินัยกรรมหายขณะไปขอรับมรดกจึงมิได้เอาพินัยกรรมไปขอรับมรดกนั้น ไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็น
เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้รับพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมทำพินัยกรรมหาย จึงไปขอรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นหาใช่ผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรมซึ่งทำให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(3)ไม่ เพราะมิใช่เป็นการสละไม่ขอรับมรดกหรือมีเจตนาจะไม่รับเอาทรัพย์ตามพินัยกรรมผู้รับพินัยกรรมชอบที่จะนำพินัยกรรมที่หาพบในภายหลังไปขอรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมอีกได้ และการที่หาพินัยกรรมไม่พบนั้นก็ถือไม่ได้ว่าผู้รับพินัยกรรมปกปิดพินัยกรรม
สามีภริยาทำพินัยกรรมฉบับเดียวกัน ต่างยกทรัพย์ให้แก่กันเมื่อตายนั้น หาใช่เป็นการตั้งผู้รับพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขบังคับว่าผู้รับพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่ผู้ทำพินัยกรรมไม่พินัยกรรมดังกล่าวสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ (อ้างฎีกาที่ 1764/2498)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายทองเงินได้สมรสกับนางกิมฮวยบุตรโจทก์ ต่างฝ่ายต่างมีสินเดิมมีสินสมรสคือที่ดินรวม 7 โฉนด และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินกับบ่อเลี้ยงปลา เครื่องทองรูปพรรณและเงินสดนางกิมฮวยถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของนางกิมฮวย 1 ใน 4 ของทรัพย์ทั้งหมด ต่อมานายทองเงินถึงแก่กรรม ก่อนถึงแก่กรรมได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินดังกล่าวให้จำเลย จำเลยนำพินัยกรรมไปขอรับมรดกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์คัดค้าน ขอให้แบ่งส่วนของโจทก์ให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ยินยอม จึงขอให้ศาลแสดงว่าพินัยกรรมของนายทองเงินเป็นโมฆะ ในส่วนทรัพย์สิน 1 ใน 4 ของโจทก์ ให้แบ่งทรัพย์ให้โจทก์ 1 ใน 4 ส่วนพร้อมกับดอกเบี้ย

โจทก์ขอให้เรียกนายเดชผู้จัดการมรดกของนายทองเงินเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยและจำเลยร่วมให้การว่า นายทองเงินสมรสกับนางกิมฮวยต่างฝ่ายต่างมีสินเดิม ไม่มีบุตรด้วยกัน ได้รับนางบุญรอดเป็นบุตรบุญธรรม นางบุญรอดสมรสกับนายประมวล มีบุตรด้วยกันคือจำเลยที่ 6 ถึงที่ 13 นางกิมฮวยถึงแก่กรรมแล้วนายทองเงินได้สมรสกับนางง้วยจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1, 2 และ 3 เป็นบุตรนางง้วยเกิดแต่สามีคนก่อน นายทองเงินได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้ง 13 คน และตั้งให้จำเลยร่วมเป็นผู้จัดการมรดกนางกิมฮวยได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของนางกิมฮวยให้แก่นายทองเงินทั้งหมด โจทก์ฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่นางกิมฮวยตายคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมแบ่งที่ดิน ตึก โรงแรม บ้าน และปลาที่เลี้ยงไว้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ 1 ใน 4 ส่วน

จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาข้อ 1 มีปัญหาว่า คำให้การของจำเลยที่อ้างถึงพินัยกรรมของนางกิมฮวยเป็นคำให้การเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติถึงการให้การแก้คดีไว้ว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกอ้างว่าเป็นทายาทของนางกิมฮวย จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในกองมรดกเพราะนางกิมฮวย ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของนางกิมฮวยให้กับนายทองเงินทั้งหมด ซึ่งจำเลยจะขอส่งศาลในวันพิจารณา เป็นคำให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในกองมรดก เพราะมรดกรายนี้มีพินัยกรรม พินัยกรรมดังกล่าวจะมีลักษณะอย่างใดเป็นรายละเอียดซึ่งหากโจทก์ติดใจหรือจะโต้แย้งประการใด ก็อาจร้องขอต่อศาลให้จำเลยส่งต้นฉบับหรือสำเนาให้โจทก์ตรวจดูก่อนได้ คำให้การของจำเลยไม่เคลือบคลุม(ตามฎีกาข้อ 2 เป็นปัญหาข้อเท็จจริง นางกิมฮวยได้ทำพินัยกรรมไว้จริงหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าได้ทำพินัยกรรมไว้จริง)

ที่โจทก์ฎีการวมมาในข้อ 2 ว่า จำเลยจะนำสืบว่าพินัยกรรมหมาย ล.1 หายในขณะไปขอรับมรดกไม่ได้ เป็นการสืบนอกประเด็นที่ให้การไว้ นั้น เห็นว่าจำเลยมิได้ให้การถึงว่าจำเลยนำเอาพินัยกรรมไปขอรับมรดก ที่จำเลยนำสืบไปเช่นนั้นก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเหตุใดจำเลยจึงไม่เอาพินัยกรรมที่จำเลยอ้างว่าเจ้ามรดกได้ทำไว้ไปขอรับมรดก จึงไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็น ที่โจทก์ฎีกาว่านายทองเงินอ้างสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยชอบธรรมจึงถูกกฎหมายปิดปาก จะอ้างสิทธิตามพินัยกรรมหมาย ล.1 อีกไม่ได้ นั้น เห็นว่าในกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการที่ผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรมซึ่งทำให้ข้อกำหนดพินัยกรรมตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(3) ไม่ เพราะมิใช่เป็นการสละไม่ขอรับมรดกหรือมีเจตนาจะไม่รับเอาทรัพย์ตามพินัยกรรม แต่เป็นเรื่องพินัยกรรมหาย จึงไม่ทำให้นายทองเงินเสียสิทธิที่จะได้รับมรดกตามพินัยกรรม นายทองเงินชอบที่จะนำพินัยกรรมที่หาพบในภายหลังไปขอรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมอีกได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า หากผู้รับพินัยกรรมอ้างสิทธิขอรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมแล้ว จะอ้างสิทธิตามพินัยกรรมอีกไม่ได้

ฎีกาของโจทก์ข้อ 3 อ้างว่า หากนางกิมฮวยทำพินัยกรรมหมาย ล.1ไว้จริง พินัยกรรมนั้นก็เป็นโมฆะ นั้น เห็นว่าตามพินัยกรรมหมาย ล.1 เป็นการทำพินัยกรรมโดยผู้ทำพินัยกรรมทั้งสองฝ่ายมีเจตนาตรงกันที่จะยกทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเมื่อตนถึงแก่กรรมก่อน หาใช่เป็นการตั้งผู้รับพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขบังคับไว้ว่าผู้รับพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนของตนให้กับผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมจึงจะมีผลแต่อย่างใดไม่ พินัยกรรมหมาย ล.1 จึงสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1764/2498

ที่โจทก์อ้างในฎีกาข้อ 3 ต่อไปว่า นายทองเงินบอกสละพินัยกรรมแล้ว นายทองเงินไม่ได้กล่าวอ้างพินัยกรรม มรดกของนางกิมฮวยย่อมตกได้แก่โจทก์แล้ว และนายทองเงินต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเพราะปกปิดพินัยกรรม นั้น การที่นายทองเงินไปขอรับมรดกโดยอ้างฐานะทายาทโดยธรรมเพราะหาพินัยกรรมไม่พบ ไม่ใช่เป็นการสละมรดก และจะถือว่ามรดกของนางกิมฮวยตกได้แก่โจทก์ก็ไม่ได้เพราะพินัยกรรมตัดทายาทอื่นทั้งหมดมิให้เป็นผู้รับมรดก การที่นายทองเงินหาพินัยกรรมไม่พบก็ถือไม่ได้ว่านายทองเงินปกปิดพินัยกรรม

เมื่อรับฟังว่าพินัยกรรมหมาย ล.1 สมบูรณ์แล้ว แม้โจทก์จะเป็นทายาทโดยธรรมของนางกิมฮวย ก็ต้องถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องขอแบ่งมรดกตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share