คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 มีความที่จำเลยเขียนไว้ว่า.’ได้รับยืมเงินคุณพระ (โจทก์)60,000บาท จะใช้คืนทั้งหมดในเมื่อรับเงินขายที่ 24 ไร่ได้ จะคืนคุณพระหมด’.หนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 มีความว่า’ขอกวนใจช่วยอีก 20,000 บาทเท่ากับให้ผมยืมก่อน และเวลาขายที่นาของผมได้ ผมก็จะอนุญาตให้คุณพระหักไปเลย’. ดังนี้ข้อความที่จำเลยเขียนระบุไว้นั้น เป็นเพียงคำปรารภหรือคำกล่าวอ้างของจำเลยในเวลายืมรับรองว่าจะชำระหนี้คืน. เมื่อจำเลยขายที่ดินของจำเลยได้ เนื่องจากจำเลยยังมีที่ดินพอจะขายเอาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้เท่านั้น. คำรับรองดังกล่าวหาใช่เงื่อนไขในการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา144 ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ไป 4 คราว จำนวนรวม102,500 บาท และยืมเงินโจทก์อีก 3,000 บาท โดยเขียนเช็คให้ไว้เงิน 3 รายแรกจะชำระภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2500 ส่วนรายอื่นจะชำระให้เมื่อขายที่ดินโฉนดที่ 1066 จำเลยไม่ชำระภายในกำหนดและเบี่ยงบ่ายไม่ยอมขายที่ดินโฉนดที่ 1066 ขอให้ศาลบังคับให้ใช้เงิน 105,500 บาท ฯลฯ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 102,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยส่วนหนึ่งราย 3,000 บาท ที่จำเลยเขียนเช็ค เห็นว่าเช็คไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม จึงไม่บังคับให้ จำเลยอุทธรณ์ว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย จำเลยฎีกาว่า หนี้รายที่จำเลยยืมจากโจทก์มีเงื่อนไขว่า จะชำระคืนทั้งหมดเมื่อขายที่นา 24 ไร่แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่เป็นปัญหามาสู่ศาลฎีกาเกี่ยวกับหนี้เงินยืมเฉพาะ 2 ราย คือ หนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 18กรกฎาคม 2500 มีความที่จำเลยเขียนไว้ว่า “ได้รับยืมเงินคุณพระ60,000 บาท จะใช้คืนทั้งหมดในเมื่อรับเงินขายที่ 24 ไร่ได้จะคืนคุณพระหมด” และหนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน2500 มีความว่า “ขอกวนใจช่วยอีก 20,000 บาท เท่ากับให้ผมยืมก่อนและเวลาขายที่นาของผมได้ ผมก็จะอนุญาตให้คุณพระหักไปเลย” ศาลฎีกาได้พิจารณาเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่าข้อความที่จำเลยเขียนระบุไว้นั้น เป็นเพียงคำปรารภหรือคำกล่าวอ้างของจำเลยในเวลายืมรับรองว่าจะชำระหนี้ดังกล่าวคืนเมื่อจำเลยขายที่ดินของจำเลยได้ เนื่องจากจำเลยยังมีที่ดินพอจะขายเอาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้เท่านั้น คำรับรองของจำเลยดังกล่าวหาใช่เงื่อนไขในการชำระหนี้ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 144 ไม่ เพราะถ้าถือว่าเป็นเงื่อนไขในการชำระหนี้ตามจำเลยกล่าวอ้าง หากจำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมขายที่ดิน จำเลยมิไม่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ หรืออีกนัยหนึ่งโจทก์คงไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ตลอดไปหรือ พิพากษายืน.

Share