แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยฎีกาว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เพียง 30,000 บาท ไม่ใช่ 200,000 บาท ที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงิน ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ซึ่งคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องได้ 5,257.16 บาท แล้วทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยจึงต้องคำนวณหักจำนวนหนี้เงินกู้ซึ่งจำเลยไม่โต้แย้งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 35,257.16 บาท ออกจากจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยกู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ 200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 บาท ต่อเดือน ตกลงชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2543 หลังจากกู้เงินและรับเงินกู้ดังกล่าว จำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 235,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 บาท ต่อเดือนของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 200,000 บาท ลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 30,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อเดือน ตามหนังสือสัญญากู้เงินอีกฉบับหนึ่งที่โจทก์เป็นผู้เก็บรักษาไว้ จำเลยมีหนี้ค้างชำระเป็นต้นเงิน 30,000 บาท และดอกเบี้ย 5,250 บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญากู้ (วันที่ 1 มิถุนายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 สิงหาคม 2544) ไม่ให้คิดเกิน 35,000 บาท ตามที่โจทก์ขอมาในฟ้อง และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,500 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 35,000 บาท จำเลยฎีกาว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เพียง 30,000 บาท ไม่ใช่ตามจำนวน 200,000 บาท ที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ซึ่งคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 สิงหาคม 2544) ได้ 5,257.16 บาท แล้วทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยจึงต้องคำนวณหักจำนวนหนี้เงินกู้ซึ่งจำเลยไม่โต้แย้งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 35,257.16 บาท ออกจากจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของจำเลยจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยนอกจากนี้ ปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาสำหรับทุนทรัพย์จำนวน 235,000 บาท แต่ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของโจทก์มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินส่วนที่ขาดอยู่จากจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์โจทก์จึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เกินมา เห็นสมควรสั่งคืนแก่โจทก์เสียด้วย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยและคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมาแก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ