คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8463/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรม จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และต่อมาอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารสำเร็จตั้งแต่จำเลยเริ่มพรากเด็กไปโดยมีเจตนาดังกล่าว และเป็นเจตนาที่กระทำต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาเด็ก ส่วนการที่จำเลยได้กระทำอนาจารแก่เด็กโดยใช้กำลังประทุษร้ายตบตีและขู่เข็ญว่าจะฆ่าเด็กหากขัดขืนมิให้จำเลยกระทำอนาจาร ย่อมเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ และก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องและเบิกความว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยต่อไปอีก เนื่องจากฝ่ายจำเลยได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจของฝ่ายผู้เสียหายแล้ว คำร้องและคำเบิกความของผู้เสียหายพอแปลได้ว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙, ๒๘๓ ทวิ, ๒๘๔, ๓๑๗, ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง, ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง, ๒๘๔ วรรคแรก, ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ (ที่ถูก ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเพื่อการอนาจาร) จำคุก ๕ ปี กระทงหนึ่ง และฐานกระทำอนาจาร (ที่ถูก ฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐) จำคุก ๑ ปี อีกกระทงหนึ่ง รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรม จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และต่อมาอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ดังนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง แต่เมื่อเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ปรากฏว่าการที่จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควร มีเจตนาพรากเด็กชายพรเทพไปเสียจากนางทูลผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร ย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารสำเร็จตั้งแต่จำเลยเริ่มพรากเด็กชายพรเทพไปโดยมีเจตนาดังกล่าว และเป็นเจตนาที่กระทำต่อนางทูลผู้เป็นมารดาเด็กชายพรเทพ ส่วนการที่จำเลยได้กระทำอนาจารแก่เด็กชายพรเทพโดยใช้กำลังประทุษร้ายตบตีและขู่เข็ญว่าจะฆ่าเด็กชายพรเทพหากขัดขืนมิให้จำเลยกระทำอนาจาร ย่อมเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำการอันวิปริตผิดทำนองคลองธรรม เป็นภัยร้ายแรงแก่สังคมส่วนรวมดังเช่นที่เด็กชายพรเทพซึ่งมีอายุเพียง ๑๐ ปีเศษ ต้องประสบในคดีนี้ และข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิต ก็เป็นเรื่องที่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานแน่ชัดที่ยืนยันว่าขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการเช่นนั้นจริง จึงจะนำมาเป็นข้ออ้างให้ได้รับโทษน้อยลงจากการกระทำอันเลวร้ายของตนหาได้ไม่ พฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุเพียงพอให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว
อนึ่ง คดีนี้สำหรับความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สำหรับความผิดฐานนี้ก่อนคดีถึงที่สุดได้ และได้ความว่าก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องและเบิกความทำนองเดียวกันว่า ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยในคดีนี้ต่อไปอีก เนื่องจากฝ่ายจำลยได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจของฝ่ายผู้เสียหายแล้ว เห็นว่า คำร้องและคำเบิกความของผู้เสียหายพอแปลได้ว่า ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.

Share