คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8462/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มาตรา 6 บัญญัติว่า”ให้จัดตั้งการไฟฟ้าขึ้นเรียกว่า “การไฟฟ้านครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้(2) จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และ (3) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้านครหลวง”จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการไฟฟ้านครหลวงหรือโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ได้เปลี่ยนคำว่า “พ่อค้า” ตามมาตรา 165(1) เดิมเป็นคำว่า “ผู้ประกอบการค้า” ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าตามมาตรา 193/34(1) การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดจำนวนไปจากจำเลยจึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกร้องเอาค่าการงานที่ได้ทำ ย่อมมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(1)
การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าที่ขาดจำนวนไปในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2531 ถึงเดือนมกราคม 2533 ซึ่งขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ยังไม่ได้ออกมาใช้บังคับ หากโจทก์จะฟ้องคดีตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าได้ซึ่งตามมาตรา 165(1) เดิม ไม่ถือว่าโจทก์เป็นพ่อค้า จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 165(1) ดังกล่าว แต่โจทก์อาจฟ้องได้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม ซึ่งในกรณีเช่นนี้มีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 มาตรา 14 บัญญัติว่า “บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 8 มิถุนายน 2535)หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิมให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ” เมื่อกำหนดอายุความตามมาตรา 164 เดิมแตกต่างและมีระยะเวลายาวกว่ากำหนดอายุความตามมาตรา 193/34(1)ที่ได้ตรวจชำระใหม่ การฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องบังคับตามกำหนดอายุความ10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยังไม่สิ้นสุดลง คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
แม้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 บกพร่องโดยเดินช้าผิดปกติเนื่องจากความผิดพลาดของพนักงานของโจทก์ผู้ติดตั้งโดยฝ่ายจำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เป็นเหตุให้แสดงค่าน้อยกว่าจำนวนกระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไปจริงก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 สัญญาต่อโจทก์ว่าจะชำระค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดตลอดไป ซึ่งแปลความหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าไฟฟ้าตามที่ตนได้ใช้ไปจริง จำเลยที่ 1 จึงยังคงมีหน้าที่ตามที่ได้สัญญาไว้ดังกล่าวที่ต้องชำระค่าไฟฟ้าตามที่ตนได้ใช้ไปจริง
ธนาคารจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ในวงเงินจำนวนรวม 290,000 บาท หลังจากครบอายุหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้ว ได้มีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันต่อมาตามลำดับ โดยมีข้อความอ้างถึงหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับเดิมวงเงินค้ำประกันก็เป็นไปตามข้อความและเงื่อนไขอื่น ๆ ในหนังสือสัญญาค้ำประกันไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2ขอต่ออายุหนังสือสัญญาค้ำประกันส่วนที่ปรากฏว่าการต่ออายุหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ต้องปิดอากรแสตมป์ทุกฉบับและมีการเก็บค่าธรรมเนียมทุกครั้งด้วย ก็เป็นเรื่องของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่กำหนดให้กระทำ จะให้แปลงความหมายเลยไปถึงว่าจำเลยที่ 2ต้องรับผิดในวงเงินทุกฉบับรวมกันอันขัดต่อข้อความในหนังสือสัญญาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภค จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์โดยสัญญาว่าจะชำระค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดโจทก์ตกลงจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยที่ 1 โดยคิดคำนวณค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนตามที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไป จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 870,000 บาท ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2531 ถึงเดือนมกราคม 2533 รวม 25 เดือน เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1เดินช้าผิดปกติเพราะมีการขันสกูรว์ทับฉนวนหุ้มสายคอนโทรลเส้นสีแดงที่ปลายเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าที่ขาดจำนวนไปได้เป็นเงิน 1,157,318.59 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29มิถุนายน 2533 อันเป็นวันผิดนัดถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน277,043.01 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 1,434,361.50บาท จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 875,184.24 บาทขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 1,434,361.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,157,318.59 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 875,184.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 870,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า พนักงานของโจทก์เป็นผู้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าให้จำเลยที่ 1 เอง ความชำรุดบกพร่องของเครื่องวัดไฟฟ้าไม่ได้เกิดจากการกระทำของฝ่ายจำเลย โจทก์ฟ้องว่ามีผู้ขันสกูร์ทับฉนวนหุ้มสายคอนโทรลทำให้เครื่องวัดเดินช้าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์ จึงเป็นการฟ้องคดีละเมิด โจทก์ทราบเหตุละเมิดอย่างช้าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2536 เกินกว่า 1 ปี และโจทก์ประกอบกิจการค้าหากำไรตามปกติอย่างพ่อค้า สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าที่ขาดไปจึงมีอายุความ2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 โจทก์ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2531 เดือนมกราคม 2533คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 1,157,318.59 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 870,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9สิงหาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 811,369.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1เป็นประการแรกว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) เมื่อโจทก์ตรวจพบความบกพร่องของเครื่องวัดไฟฟ้าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2533 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน2536 จึงขาดอายุความแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงพ.ศ. 2501 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งการไฟฟ้าขึ้นเรียกว่า “การไฟฟ้านครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (2) จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและ (3) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้านครหลวง” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการไฟฟ้านครหลวงหรือโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ได้เปลี่ยนคำว่า “พ่อค้า”ตามมาตรา 165(1) เดิม เป็นคำว่า “ผู้ประกอบการค้า” ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้นดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดจำนวนไปจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกร้องเอาค่าการงานที่ได้ทำย่อมมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(1) ดังกล่าว อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าที่ขาดจำนวนไป ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์2531 ถึงเดือนมกราคม 2533 รวม 35 เดือน ซึ่งขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ยังไม่ได้ออกมาใช้บังคับ หากโจทก์จะฟ้องคดีตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าได้ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิม ไม่ถือว่าโจทก์เป็นพ่อค้า จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 2 ปีตามบทบัญญัติมาตรา 165(1) ดังกล่าว แต่โจทก์อาจฟ้องได้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมซึ่งในกรณีเช่นนี้มีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535มาตรา 14 บัญญัติว่า “บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 8 มิถุนายน 2535) หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม ให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ” ดังนั้น เมื่อกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม แตกต่างและมีระยะเวลายาวกว่ากำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)ที่ได้ตรวจชำระใหม่การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้จึงต้องบังคับตามกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดจำนวนไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2531ถึงเดือนมกราคม 2533 ในแต่ละเดือนรวม 25 เดือน เมื่อวันที่ 6 กันยายน2536 จึงยังไม่เกินกำหนดอายุความ 10 ปี ดังกล่าว คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามคำฟ้องหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าจากโจทก์ จำเลยที่ 2เป็นผู้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์น้อยกว่าความเป็นจริงเนื่องจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวเดินช้าผิดปกติ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 บกพร่องโดยเดินช้าผิดปกติเนื่องจากความผิดพลาดของพนักงานของโจทก์ผู้ติดตั้งเอง โดยฝ่ายจำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เป็นเหตุให้แสดงค่าน้อยกว่าจำนวนกระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไปจริง แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้เช่นนั้นก็ตาม แต่เมื่อปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับคำขอใช้ไฟฟ้าเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 สัญญาต่อโจทก์ว่าจะชำระค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดตลอดไป ซึ่งแปลความหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าไฟฟ้าตามที่ตนได้ใช้ไปจริง จำเลยที่ 1จึงยังคงมีหน้าที่ตามที่ได้สัญญาไว้ดังกล่าวที่ต้องชำระค่าไฟฟ้าตามที่ตนได้ใช้ไปจริงอยู่ ในข้อนี้โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ไฟฟ้านับแต่วันติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าให้จำเลยที่ 1 ถึงวันที่โจทก์ตรวจสอบเครื่องวัดดังกล่าวตามความเป็นจริงเป็นเงินจำนวน 4,267,426.63 บาทแต่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 เพียงจำนวน 3,110,108.04 บาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้ารายนี้เพิ่มตามคำฟ้องอีกจำนวน 1,157,318.59 บาท เมื่อทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏข้อหักล้างเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์

มีปัญหาประการสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้เพียงใด ข้อเท็จจริงรับกันในส่วนของจำเลยที่ 2 ว่า ธนาคารจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ในวงเงินจำนวนรวม290,000 บาท ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และหนังสือเพิ่มวงเงินค้ำประกันและต่ออายุสัญญาเอกสารหมาย จ.2 คงโต้เถียงกันว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 เป็นสัญญาฉบับใหม่แยกจากสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดเป็นรายฉบับอีกต่างหากดังโจทก์อ้าง หรือหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 เป็นฉบับต่ออายุสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ซึ่งให้จำเลยที่ 2 รับผิดในวงเงินจำนวนเดิมดังที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ได้ความว่าหลังจากครบอายุหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วได้มีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 ต่อมาตามลำดับ ข้อความในเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 ปรากฏว่าได้อ้างถึงหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ทุกฉบับ วงเงินค้ำประกันในเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 ก็เป็นไปตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 คือจำนวน260,000 บาท และเพิ่มวงเงินค้ำประกันอีกจำนวน 30,000 บาท รวมเป็นจำนวน 290,000 บาท ทุกฉบับ และเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 ได้ระบุข้อความตรงกันทั้ง 3 ฉบับ ว่า ข้อความและเงื่อนไขอื่น ๆ ในหนังสือสัญญาค้ำประกันไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวในเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 แล้ว เห็นได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ขอต่ออายุหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ทำเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5เป็นสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ตนรับผิดเพิ่มเติมต่างหากจากสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ทั้งได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าตามระเบียบปฏิบัติของโจทก์ยอมให้มีการค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยเท่ากับจำนวน 2 เท่า ของค่าไฟฟ้าต่อเดือน ซึ่งเจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ส่วนที่ปรากฏว่าการต่ออายุหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ต้องปิดอากรแสตมป์ทุกฉบับและมีการเก็บค่าธรรมเนียมทุกครั้งด้วย ก็เป็นเรื่องของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่กำหนดให้กระทำจะให้แปลความหมายเลยไปถึงว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในวงเงินทุกฉบับรวมกันอันขัดต่อข้อความในหนังสือสัญญาไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ในวงเงินจำนวนเพียง 290,000 บาท เท่านั้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในเงินจำนวนเพียง 290,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share