แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางต่อศาลชั้นต้นแล้วศาลชั้นต้นฟังว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางแต่ฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงยกคำร้องและคดีถึงที่สุด แล้วผู้ร้องมายื่นคำร้องครั้งใหม่ได้อ้างเหตุอย่างเดียวกันกับ ในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการร้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร ให้ลงโทษปรับและริบรถยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบในคดีนี้โดยนางสาวระเบียบเช่าซื้อไปและกรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้มีส่วนร่วมและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้ส่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่ากรณีร้องซ้ำอันต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติว่า “หากปรากฎในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน”ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากผู้ร้องจะต้องนำสืบว่าเป็นเจ้าของแท้จริงแล้ว ยังจะต้องนำสืบให้ปรากฎว่าผู้ร้องมิได้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วย เมื่อผู้ร้องนำสืบให้ปรากฎว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วยเมื่อผู้ร้องนำสืบในการยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางครั้งก่อนฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดดังนี้ ย่อมถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงเป็นการร้องซ้ำอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15