แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์บรรทุกชนกับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ซึ่ง ป. เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายและ ป. ได้รับบาดเจ็บ ป. รู้ว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว โจทก์เป็นภริยาของ ป. และอยู่บ้านเดียวกันเชื่อได้ว่าโจทก์จะต้องรู้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์อย่างช้าก็ในช่วงที่ ป. รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือนเศษ จึงต้องฟังว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้1 ปีเศษแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
เหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้
การที่จำเลยนำค่ารักษาพยาบาลไปชำระให้แก่ ป. เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อ ป. และเมื่อมิใช่หนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงหาทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน บ – 3244 ราชบุรี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80 – 6932 ประจวบคีรีขันธ์ แซงรถยนต์คันอื่นข้างหน้าล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่นายประวุฒิ นิลรัศมีเวทย์ สามีโจทก์เป็นผู้ขับ แล้วเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายและสามีโจทก์ได้รับบาดเจ็บขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 202,820 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของนายประวุฒิ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า มูลละเมิดเกิดวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 แต่โจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายในวันที่ 22 ธันวาคม 2538 โดยมิได้นำสืบให้ได้ความว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน2537 จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 6932 ประจวบคีรีขันธ์ ชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน บ – 3244 ราชบุรี ของโจทก์ที่มีนายประวุฒิ นิลรัศมีเวทย์ ซึ่งเป็นสามีของโจทก์เป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ดังกล่าวเสียหายและนายประวุฒิได้รับบาดเจ็บ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพยานที่เบิกความเกี่ยวกับเหตุที่รถยนต์ของโจทก์ที่นายประวุฒิขับชนกับรถยนต์ที่จำเลยขับเพียงคนเดียวคือนายประวุฒิ โดยนายประวุฒิเบิกความว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วพยานไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปากท่อ 6 วัน หลังจากออกจากโรงพยาบาล จำเลยไปติดต่อและเจรจากับพยานจะออกค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2537 จำเลยนำค่ารักษาพยาบาล 9,000 บาท มาให้แก่พยาน และจะชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ในวันที่ 28 ธันวาคม 2537 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่นำค่าซ่อมรถยนต์มาให้ทั้งได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า หลังเกิดเหตุ จำเลยลงจากรถไปคุยกับพยาน ตามคำเบิกความของนายประวุฒิดังกล่าวแสดงว่า นายประวุฒิรู้ว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว ส่วนโจทก์จะรู้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อใดนั้น นายประวุฒิมิได้เบิกความถึง ทั้งโจทก์ก็มิได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นภริยาของนายประวุฒิและอยู่บ้านเดียวกัน จึงเชื่อได้ว่าโจทก์จะต้องรู้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์อย่างช้าก็ในช่วงที่นายประวุฒิรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือนเศษ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ 1 ปีเศษแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยตกลงกับนายประวุฒิว่าจะชดใช้ค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถยนต์ให้ และในวันที่ 24 ธันวาคม 2537 จำเลยนำค่ารักษาพยาบาล 9,000 บาท ไปชำระให้แก่นายประวุฒิ เงินจำนวนนี้เป็นค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ออกให้นายประวุฒิจึงเป็นเงินของโจทก์ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 22 ธันวาคม 2538 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ แต่กรณีตามฎีกาของโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อนายประวุฒิและมิใช่หนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์จึงหาทำให้อายุความสะดุดหยุดลงไม่
พิพากษายืน