คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท. และโจทก์ตั้งทุนทรัพย์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพียง 1,500 บาท. จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์. และมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง.
ขอแก้คำฟ้องที่ว่า จำเลยได้เช่าตึกแถว เลขที่ 493/9เป็นจำเลยได้เช่าตึกแถวเลขที่ 493/12. ดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์พิมพ์เลขผิดพลาด เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ระบุไว้ชัดว่าจำเลยตกลงรับเช่าตึกแถว 2 ชั้นห้องหมายเลขทะเบียนที่ 493/12. การขอแก้ไขคำฟ้องที่พิมพ์ผิดพลาด ย่อมไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 ที่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน.
หลังจากครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว โจทก์ได้บอกเลิกการเช่ากับจำเลย. การที่จำเลยอยู่ต่อมาอีก. ศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยอยู่โดยละเมิด และถือว่าเงินค่าเช่าที่โจทก์รับไปเดือนละ 200 บาทนั้น เป็นค่าเสียหาย. ฉะนั้นเมื่อจำเลยอยู่ต่อมา ฟังไม่ได้ว่าเป็นการเช่าแล้ว.พระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ.2504 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นย่อมไม่คุ้มครองจำเลย.
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ.2504 ไม่ได้คุ้มครองถึงการเรียกร้องค่าเสียหายไว้แต่ประการใด.

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าตึกแถวของโจทก์เลขที่ 493/12เพื่อทำการค้า มีกำหนดเวลาเช่า 8 ปี ในอัตราค่าเช่า 4 ปีแรกเดือนละ 50 บาท 4 ปีหลังเดือนละ 80 บาท ฯลฯ ภายหลังที่จำเลยเช่าจำเลยไม่ใช้สถานที่เช่าทำการค้า แต่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นการผิดสัญญาเช่า โจทก์เตือนให้ใช้ทำการค้า จำเลยผัดเรื่อยมาจนสิ้นอายุสัญญา จำเลยอยู่ต่อมาโดยยอมเสียค่าเสียหายหรือค่าเช่าเดือนละ 200 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกจากตึกแถว จำเลยไม่ยอมออก ขอให้บังคับให้จำเลยและบริวารออกจากห้องโจทก์ และใช้ค่าเสียหายฯ จำเลยให้การว่าโจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อทำการค้าเจตนาที่แท้จริงของจำเลยเช่าเพื่ออยู่อาศัย จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน การที่โจทก์ให้จำเลยเช่าต่อมาเมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว เท่ากับโจทก์เปลี่ยนเจตนาเป็นการเช่าเพื่อการค้า ฯลฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และโจทก์ตั้งทุนทรัพย์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพียง 1,500 บาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์และมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224และเห็นว่า คดีนี้โจทก์ขอแก้คำฟ้องที่ว่า จำเลยได้เช่าตึกแถวเลขที่ 493/9 เป็นจำเลยได้เช่าตึกแถวเลขที่ 493/12 เป็นกรณีที่โจทก์พิมพ์เลขผิดพลาด เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยระบุไว้ชัดว่าจำเลยตกลงรับเช่าตึกแถวสองชั้นห้องหมายเลขทะเบียนที่ 493/12การขอแก้ไขคำฟ้องที่พิมพ์ผิดพลาดเช่นนี้ ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้จึงชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า เมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ได้เรียกให้จำเลยมาทำสัญญาเช่าใหม่ต่อกันอีก โดยเรียกเก็บค่าเช่าจากจำเลยไปเดือนละ 200 บาท เท่ากับโจทก์ยอมรับรู้ถึงเจตนาของจำเลยว่าเช่าเพื่ออยู่อาศัย ในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นได้ฟังข้อเท็จจริงไว้ว่า หลังจากครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2506 แล้ว โจทก์ได้บอกกล่าวเลิกการเช่ากับจำเลย การที่จำเลยอยู่ต่อมาอีก ศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยอยู่โดยละเมิด และถือว่าเงินค่าเช่าที่โจทก์รับไปเดือนละ 200 บาทนั้น เป็นค่าเสียหาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยอยู่ต่อมาฟังไม่ได้ว่าเป็นการเช่าแล้ว พระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดินพ.ศ. 2504 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น ย่อมไม่คุ้มครองจำเลยเช่นเดียวกัน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายเกินกว่าค่าเช่าที่เรียกเก็บไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 ไม่ได้คุ้มครองถึงการเรียกร้องค่าเสียหายไว้แต่ประการใด พิพากษายืน.

Share