คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่ตนก็ได้” การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและต้องไปดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังเช่นกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 91, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22, 43, 78, 152, 157, 160
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาววราภรณ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาพยาบาล ค่าขาดรายได้ และค่าเสียหายที่ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาจนไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติได้ รวมเป็นเงิน 499,734 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2), 43 (4) (8), 78 วรรคหนึ่ง, 152, 157, 160 วรรคท้าย (ที่ถูก มาตรา 160 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ฐานขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น และฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 (ที่ถูก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือและไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 2 เดือนและปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์จำนวน 12 ชั่วโมง ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 233,234 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้อง (ยื่นคำร้องวันที่ 11 พฤษภาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนอาญาและจำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะยื่นคำฟ้องคดีแพ่งต่อศาลที่มีอำนาจต่อไปภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย และเนื่องจากจำเลยไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งตามคำร้องของโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้”การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและต้องไปดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังเช่นกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นว่า หากศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในคดีส่วนแพ่งแล้ว คดีอาจมีผลต่อการฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยตามกฎหมายได้ จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยใหม่ตามรูปคดี

Share