แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยมิได้มีการว่าจ้างทดลองงานกันใหม่ และฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มีความสามารถในการทำงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แล้วจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างทดลองงานเนื่องจากโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการอุทธรณ์ในเรื่องที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ศาลได้รับฟังมาจึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม มาตรา 54แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้ทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน11,750 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย 11,750 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,625 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ทำงานแล้วมีผลงานไม่เป็นที่พอใจของจำเลย ขาดความรับผิดชอบในการทำงานจำเลยทำสัญญาจ้างทดลองงานกับโจทก์ไว้มีระยะเวลา 119 วัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างการทดลองงาน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ให้โจทก์ลาออกเมื่อทำงานครบ 11 เดือน แล้วให้สมัครเข้ามาทำงานใหม่ถือได้แล้วว่าเป็นการหลีกเลี่ยงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทำของเสียหายมาก แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ไม่มีความสามารถในการทำงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า18 วัน พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย เนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 5,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 2,250 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางได้พิเคราะห์ผลการทำงานของโจทก์ ซึ่งรวมทั้งการทำของเสียหายของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 แล้ว วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มีความสามารถในการทำงาน อุทธรณ์ของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างการทดลองงาน โจทก์จะอ้างว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ และจำเลยชอบที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยเรื่องการเลิกจ้างโจทก์ระหว่างการทดลองงานไว้แล้วว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ให้โจทก์ลาออกเมื่อทำงานครบ 11 เดือน แล้วให้สมัครเข้ามาทำงานใหม่ ถือได้แล้วว่าเป็นการหลีกเลี่ยงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯซึ่งเท่ากับศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยมิได้มีการว่าจ้างทดลองกันใหม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ระหว่างการทดลองงาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย