คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 ได้กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และขณะที่ที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกันเพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สามารถใช้ยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ สิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง หลังจากที่ ข.ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ข.ได้ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อใน กสน.5 ดังกล่าวและต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอออกเป็นโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการถือแทนทายาทอื่น ๆ ของ ข. และต่อมาได้มีการทำบันทึกข้อตกลงการให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินจริงตามบันทึกข้อตกลง ข้อตกลงในการแบ่งที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทและไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย หรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหกตามบันทึกข้อตกลงในการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้แก่สหกรณ์นิคมศรีสำโรง จำกัด จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 9 ไร่ ใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน 15 ไร่ หากไม่สามารถทำได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งหกเป็นเงิน 2,880,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไถ่ถอนจำนองแล้วแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6726 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 9 ไร่ ให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 รวม 15 ไร่ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งหกตามส่วนดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 198,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 รวมเป็นเงิน 333,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มิถุนายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหกโดยกำหนด ค่าทนายความ 6,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งหกชนะคดี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งหก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และนายไหล เป็นบุตรของนายขอน โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไหล ส่วนโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 2 กับนายไหล ก่อนนายขอนถึงแก่ความตาย นายขอนได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.5) ต่อมานายขอนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและยื่นคำขอหนังสือแสดงการทำประโยชน์ต่ออธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) และจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินในเวลาต่อมา
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่นายขอนซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด ตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.5) ถึงแก่ความตาย สิทธิครอบครองดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายขอนหรือไม่ และโจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทตามบันทึกข้อตกลงให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 ได้กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และขณะที่ที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกันเพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สามารถใช้ยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ สิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายธีรพล ผู้อำนวยการสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด ว่าเมื่อนายขอนถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทยังไม่ได้มีการไปขอออกโฉนด เท่ากับว่าที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด อยู่ ทางสหกรณ์จึงได้แจ้งให้ทายาทของนายขอนเข้าสวมสิทธิโดยให้ตกลงกันเองว่าจะให้คนใดเข้ามาใส่ชื่อใน กสน.5 ก่อนเพียงคนเดียวซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของสหกรณ์ ศูนย์ดำรงธรรมและสหกรณ์ได้เรียกทายาทของนายขอนมาไกล่เกลี่ยเรื่องที่ดินดังกล่าว และร้อยตรีอภิวัฒน์เป็นพยานในข้อตกลงการให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน ซึ่งพยานดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ปรากฏว่ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ร่วมกันลงลายมือชื่อถึงหัวหน้าสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด เพื่อขอให้แบ่งแยกที่ดินซึ่งแสดงให้เห็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามลำดับแล้วจึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ส่วนที่จำเลยที่ 1 เบิกความอ้างว่า เจ้าหน้าที่สหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด นำกระดาษเปล่ามาให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อแล้วพูดว่าหากไม่ลงชื่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะยึดโฉนดคืน จำเลยที่ 1 จึงลงลายมือชื่อ หลังจากโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 แล้วจึงมาทราบว่ามีบันทึกการแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และนายไหลตามบันทึกข้อตกลงนั้น คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เพียงลอย ๆ มีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า หลังจากที่นายขอนถึงแก่ความตาย ทายาทของนายขอนได้ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อใน กสน.5 ดังกล่าวและต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอออกเป็นโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการถือแทนทายาทอื่น ๆ ของนายขอน และต่อมาได้มีการทำบันทึกข้อตกลงการให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินจริงตามบันทึกข้อตกลง ข้อตกลงในการแบ่งที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทและไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย หรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหกตามบันทึกข้อตกลงในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งหกฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share