คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องเพราะไม่แสดงเหตุอันควร แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องอีกโดยอ้างเหตุอันควรแม้จะยื่นภายหลังที่สืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เมื่อจำเลยมิได้หลงผิดข้อต่อสู้คดี ก็มีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2496 เวลากลางวัน จำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินของโจทก์ไป 1,143 บาท โดยนำที่นาซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มาวางเป็นประกันโดยใช้อุบายหลอกลวง อันประกอบด้วยความเท็จว่า ที่นานั้นเป็นของจำเลย โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยกู้และส่งเงิน 1,143 บาทให้จำเลยไปต่อมาโจทก์ทราบความจริงว่าที่นานั้นไม่ใช่เป็นของจำเลยเหตุเกิดที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ขอให้ลงโทษ

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล จึงสั่งประทับฟ้องหมายเรียกจำเลยแก้คดี

จำเลยให้การว่า ได้ยืมเงินของโจทก์จริง ที่นาที่นำมาประกันเงินกู้ไม่ใช่เป็นของจำเลย ได้บอกให้โจทก์ทราบในวันทำสัญญากู้แล้ว

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2498 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่า ตามคำฟ้องที่ว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2496 เวลากลางวันจำเลยกู้เงินโจทก์นั้นยังคลาดเคลื่อนอยู่ โจทก์ขอแก้เป็นวันที่ 6 กรกฎาคม 2496 เวลากลางวัน จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “ตามคำร้องของโจทก์ไม่ปรากฏเหตุอันควรจึงอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องไม่ได้ ให้ยกคำร้อง” ในคำร้องมีหมายเหตุว่าข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ลงชื่อทนายโจทก์ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 3 ปาก โจทก์แถลงว่า ขอสืบพยานเพียงเท่านี้ และโจทก์ติดใจอ้างเอกสารดังให้การถึงไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องสืบพยานจำเลยต่อไปจึงสั่งให้งดสืบพยานจำเลยเสีย นัดฟังคำพิพากษา

ในวันเดียวกันนั้น โจทก์ยื่นคำร้องอีกว่า ตามที่โจทก์ระบุวันที่กู้คลาดเคลื่อนไปนั้น เพราะได้คัดสำเนาสัญญากู้คลาดเคลือนไปจากต้นฉบับที่อยู่ในสำนวนของศาล โจทก์ร่างฟ้องตามสำเนาสัญญากู้จึงคลาดเคลื่อน โจทก์เพิ่งทราบก่อนเริ่มพิจารณา จึงขอแก้ฟ้องเมื่อสืบพยานเสร็จแล้ว จึงทราบว่าศาลไม่อนุญาต โจทก์จึงยื่นคำร้องแสดงเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ขอแก้ฟ้องอีก ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องนี้ “สำเนาให้จำเลย รวมสำนวน เพื่อผลทางกฎหมายต่อไป” แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2496 ทางพิจารณาปรากฏว่าจำเลยกู้เงินในวันที่ 6 กรกฎาคม 2496 ต่างกับที่กล่าวในฟ้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องภายหลังที่สืบพยานโจทก์เสร็จแล้วก็ไม่ทำให้รูปคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องฉบับหลัง ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี ยังอยู่ในเวลาที่โจทก์ขอแก้ฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 โจทก์ได้แสดงเหตุอันควรต้องแก้แล้ว ทั้งจำเลยก็รับแล้วว่าได้กู้เงินของโจทก์ไปจริงแต่แก้ว่ามิได้หลอกลวงโจทก์เท่านั้น จำเลยมิได้หลงผิดต่อสู้คดีในข้อที่โจทก์ขอแก้วันที่กู้เงินนั้นเลย จึงมีเหตุสมควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ตามที่ได้ร้องขอแก้ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้ว เห็นว่า แม้คำร้องขอแก้ฟ้องฉบับแรกศาลได้สั่งไม่อนุญาต โดยโจทก์มิได้บรรยายเหตุอันควรที่ขอแก้ก็ดีแต่ในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องอีก โดยอ้างเหตุอันควรต้องแก้ก่อนศาลพิพากษาคดี และจำเลยมิได้หลงผิด ข้อต่อสู้คดีเช่นนี้จึงมีเหตุสมควรอนุญาตให้แก้ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและชี้ขาดตัดสินชอบแล้ว

จึงให้ยกฎีกาจำเลย โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share