คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8438/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า “2. ข้าพเจ้า ป.ยินยอมชดใช้เงินจำนวน 40,000,000 บาท ให้แก่ ศ.3.ข้าพเจ้าป. จะจ่ายเงินจำนวน 40,000,000 บาท ให้แก่ ศ. เมื่อข้าพเจ้าสามารถขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3837 พร้อมที่ดินติดต่อกันอันเป็นที่ตั้งของโรงแรม ร. หรือที่ดินโฉนดที่ 4211 ได้และได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว” แสดงว่าหนี้ที่ ป.จะต้องชำระแก่ ศ. เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาข้อ 2 ส่วนข้อกำหนดตามสัญญาข้อ 3 เป็นเพียงข้อกำหนดอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม มิใช่เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 เดิม (มาตรา 182 ที่แก้ไขใหม่) หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เจ้าหนี้ฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นบุตรของนายประสานแสงพิทักษ์ และนางสมใจ แสงพิทักษ์ นายประสานในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมใจทำหนังสือประนีประนอมยอมความจะชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 40,000,000 บาท แต่ขอเวลาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3837 ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานครหรือโฉนดเลขที่ 4211 ตำบลหนองแขม อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครให้ได้เสียก่อน แต่ยังไม่ทันได้ขาย นายประสานก็ถึงแก่ความตายจำเลยซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมายของบุคคลทั้งสองไม่ยินยอมดำเนินการโอนขายที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และมิได้กระทำการใด ๆ เพื่อให้โจทก์ได้รับเงิน ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะทายาทของนางสมใจ และในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประสานใช้หนี้โจทก์ (จากกองมรดกของนางสมใจและนายประสาน)เป็นเงิน 40,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า บันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่โจทก์นำมาฟ้องระบุว่า นายประสานกระทำในฐานะส่วนตัว ไม่มีผลผูกพันกองมรดกของนางสมใจ เงื่อนไขตามสัญญาก็ไม่มีทางบรรลุผลเนื่องจากนายประสานมิใช่เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3837ไม่สามารถขายที่ดินนั้นได้เชื่อว่ามีการปลอมแปลงลายมือชื่อของนายประสาน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกนายกมลสิงห์แสงพิทักษ์ นางสาวกมลศรี แสงพิทักษ์ นายกมลเลิศ แสงพิทักษ์และนายกมลสิน แสงพิทักษ์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามคำร้องของโจทก์
จำเลยร่วมทั้งสี่ให้การว่า นายประสานมิได้ทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความ ลายมือชื่อนายประสานในเอกสารดังกล่าวปลอม แม้นายประสานทำจริงก็เป็นการกระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมใจไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว และเป็นนิติกรรมซึ่งมีเงื่อนไขที่มิอาจจะสำเร็จได้เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 3837 เป็นของนางสาวสมนึก ลี้ตระกูล จึงเป็นโมฆะไม่อาจใช้บันทึกได้ตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความตามฟ้องเป็นสัญญาที่นายประสานทำและบังคับได้ แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน เมื่อยังไม่มีการขายที่ดินตามเงื่อนไข โจทก์จะมาฟ้องบังคับให้ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2. และ 3.มีใจความว่า “2. ข้าพเจ้านายประสาน แสงพิทักษ์ ยินยอมชดใช้เงินจำนวน 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาท) ให้แก่ ร.ท.ศักดาคำวชิรพิทักษ์ 3. ข้าพเจ้านายประสาน แสงพิทักษ์ จะจ่ายเงินจำนวน 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาท) ให้กับ ร.ท.ศักดาคำวชิรพิทักษ์ เมื่อข้าพเจ้าสามารถขายที่ดินโฉนดที่ 3837 ต.ถนนพญาไท อ.ดุสิต กทม. พร้อมที่ดินบริเวณติดต่อกันอันเป็นที่ตั้งของโรงแรมรัตนพิทักษ์ (55) หรือที่ดินโฉนดที่ 4211 ต.หนองแขม อ.ภาษีเจริญ กทม. ได้ และได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว” ศาลฎีกาเห็นว่าหนี้ที่นายประสานจะต้องชำระแก่โจทก์เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ส่วนข้อกำหนดที่ว่าจะชำระหนี้ต่อเมื่อขายที่ดินได้และได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว เป็นเพียงข้อกำหนดในนิติกรรมอย่างหนึ่งอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรมดังนี้ข้อกำหนดดังกล่าวจึงมิใช่เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 เดิม (มาตรา 182 ที่แก้ไขใหม่) และถือได้ว่าหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยและจำเลยร่วมให้ชำระหนี้ได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่เหลือต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่

Share