คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 942/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฝ่ายหนึ่ง และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 กับพวกอีกฝ่ายหนึ่ง บังอาจสมัครใจเข้าใช้กำลังชกต่อยเตะถีบทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จนจำเลยที่ 3 กับที่ 5 บาดเจ็บ ดังนี้ เห็นได้ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยคนใดทำร้ายใคร และถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยแต่ละฝ่ายต่างร่วมกันมากระทำความผิดฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องฐานทำร้ายร่างกายในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ซึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่ามีบุคคลถึงตายหรือได้รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้กันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 294 หรือ 299แล้ว แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 3 สิงหาคม 2506 เวลากลางคืน จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ฝ่ายหนึ่ง และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก 2 คน ฝ่ายหนึ่ง บังอาจสมัครใจเข้าใช้กำลังชกต่อยเตะถีบทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จนจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 5 ได้รับบาดเจ็บปรากฏตามรายงานชันสูตรบาดแผล ส่วนจำเลยอื่นไม่ได้รับบาดเจ็บเหตุเกิดที่ตลาดแม่กลอง ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงครามขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 391, 83

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ต่อมาจำเลยที่ 5ขอถอนคำให้การเดิม ขอรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลจังหวัดสมุทรสงครามเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความแตกต่างในข้อสาระสำคัญฟังไม่ได้ว่าใครทำร้ายใคร จึงลงโทษจำเลยไม่ได้และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แม้จำเลยที่ 5 รับสารภาพ ก็ลงโทษไม่ได้พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 5 เพราะรับสารภาพ และฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า ทั้งสองฝ่ายสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันถึงบาดเจ็บ เป็นอันชัดแจ้งในข้อหาเรื่องวิวาทแล้ว จึงไม่เคลือบคลุมแต่คดีไม่ปรากฏว่ามีใครบาดเจ็บถึงสาหัสหรือถึงตาย จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะลงโทษจำเลยส่วนคำฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 295, 391 โจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องว่า ใครทำร้ายใครอย่างไร ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5), 192 วรรคแรก ดังนั้น แม้จำเลยที่ 5 จะรับสารภาพ ก็เป็นคำรับสารภาพในคำฟ้องที่จะลงโทษจำเลยไม่ได้พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า ตามฟ้องย่อมฟังได้ว่า มีบุคคล 2 ฝ่าย ต่างสมคบเข้าทำร้ายฝ่ายตรงกันข้าม ต้องด้วยลักษณะสมคบ แม้จำเลยคนหนึ่งคนใดของอีกฝ่ายทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งถึงบาดเจ็บ ศาลก็ลงโทษจำเลยทุกคนได้ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 5

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยคนใดทำร้ายใครซึ่งแสดงว่า ในการสอบสวนฟังไม่ได้ว่าใครทำร้ายใคร แม้ตามทางพิจารณาซึ่งยุติในศาลชั้นต้นก็รับฟังไม่ได้ว่าใครทำร้ายใคร ดังนั้นฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องฐานทำร้ายร่างกายในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ซึ่งถือได้ว่าวิวาททำร้ายกัน แต่ความผิดฐานนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้ต่อเมื่อมีบุคคลถึงตายหรือรับอันตรายสาหัสโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 294 หรือ 299 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คดีนี้ มีผู้บาดเจ็บไม่ถึงตายหรือสาหัสจึงลงโทษไม่ได้ แม้จำเลยที่ 5 จะให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม ข้อที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์มีลักษณะเป็นการร่วมสมคบกันกระทำผิด และศาลลงโทษจำเลยทุกคนได้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์ถ้อยคำที่บรรยายในคำฟ้องแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยแต่ละฝ่ายต่างร่วมกันมากระทำผิด ที่จำเลยที่ 5 รับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องนั้นเป็นการรับว่าได้กระทำผิดในเรื่องวิวาทซึ่งจะลงโทษไม่ได้ดังกล่าวมาข้างต้นจำเลยหาได้รับว่าได้ทำร้ายจำเลยที่ 3 มีบาดเจ็บไม่ จึงลงโทษจำเลยที่ 5 ฐานทำร้ายร่างกายไม่ได้ และที่โจทก์กล่าวในฎีกาอีกว่า คดีนี้ แม้พยานโจทก์จะเบิกความแตกต่างกันในข้อสำคัญ แต่โจทก์มีนายวิวัฒน์ นายบุญเรือนพยานโจทก์เบิกความตรงกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 5 ว่า จำเลยที่ 5 เป็นคนทำร้ายจำเลยที่ 3 ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 5 ได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

พิพากษายืน

Share