คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3673/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลก็โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของบุคลากรในบริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นสำคัญ ขณะที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งการที่จำเลยทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 เนื่องจากเชื่อในความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 1 และเป็นผู้ที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยตามสัญญา โจทก์ทั้งสองได้แจ้งประวัติของโจทก์ที่ 2ให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยทราบและจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ที่ 1 เพราะเชื่อในความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่มีการศึกษาระดับ O(โอ) จากวิทยาลัยว่ายานฮ่องกง จี.ซี.อี.มีความรู้ด้านภาษาเซี่ยงไฮ้จีนกลาง กวางตุ้ง และภาษาอังกฤษ มีประสบการณ์ด้านโรงแรมและการท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นผู้จัดการโรงแรมอายุน้อยที่สุดของฮ่องกง เมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่เคยแจ้งหรืออ้างว่ามีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมเลย ดังนั้นจำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าการที่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 1เกิดจากความสำคัญผิดในคุณสมบัติของโจทก์ที่ 2 ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม สัญญาจ้างจึงสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆียะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 120(เดิม)(มาตรา 157ที่แก้ไขใหม่) ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ยังมิได้รับอนุญาตจากกรมแรงงานให้ทำงานในประเทศไทย มิใช่คุณสมบัติซึ่งปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจอ้างเป็นเหตุให้นิติกรรมเป็นโมฆียะได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาจ้างดังกล่าว และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองแต่จำเลยต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญา

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2532 จำเลยจ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษาโครงการปรับปรุงโรงแรมเซ็นจุรีของจำเลยมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532 ค่าจ้างปีแรก 4,800,000 บาท ปีที่สองเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบ ค่าจ้างปีแรกชำระวันทำสัญญา1,440,000 บาท นอกนั้นชำระรายเดือน เดือนละ 280,000 บาท ค่าจ้างปีที่สองเป็นเงิน 5,280,000 บาท ชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 440,000 บาท โจทก์ได้ให้คำปรึกษาแก่จำเลยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลดีแก่จำเลย ตามสัญญาทุกประการ จำเลยชำระค่าจ้างถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2533 เป็นเงิน 2,840,000 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2533 เป็นต้นมาจำเลยไม่ชำระ จำเลยผิดสัญญาต้องชำระค่าจ้างปีแรกที่ยังค้างอยู่จำนวน 1,960,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละงวดนับแต่วันถึงกำหนดชำระถึงวันฟ้องรวมเป็นดอกเบี้ย 17,500 บาท รวมกับค่าจ้างปีที่สอง 5,280,000 บาท แล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น7,257,500 บาท จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 7,240,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,257,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 7,240,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างนายโรเบิร์ต คิง พาร์หวาเป็นที่ปรึกษา จำเลยทำสัญญาจ้างกับโจทก์ตามความประสงค์ของนายโรเบิร์ต คิง พาร์หวา เพื่อให้นายโรเบิร์ต คิง พาร์หวาเสียภาษีน้อยลง จำเลยสำคัญผิดในคุณสมบัติของนายโรเบิร์ต คิง พาร์หวา ว่ามีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ให้คำปรึกษา ได้ แต่ความจริงไม่มี นอกจากนั้นยังเป็นบุคคลต่างด้าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างสำหรับการจ้างปีที่สอง ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ต้องการจ้างผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรมตลอดจนการบริหารธุรกิจโรงแรม จำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวงโจทก์จนสำคัญผิดว่าจำเลยที่ 2 มีคุณสมบัติ โจทก์จึงจ้างจำเลยที่ 2 ค่าจ้าง 4,800,000 บาท ชำระครั้งแรก 1,440,000 บาท ที่เหลือชำระเดือนละ 280,000 บาท โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 2เสียภาษีน้อยละ ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีความรู้ความสามารถไม่สามารถให้คำปรึกษาที่ดีทั้งเป็นบุคคลต่างด้าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานให้ประเทศไทย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองมีหน้าที่คืนเงินค่าจ้างที่รับไปแล้ว 2,840,000 บาท และชำระค่าเสียหายอันเป็นผลจากความผิดของจำเลยทั้งสองที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าทำให้โจทก์ขาดผลประโยชน์ในผลกำไรที่ควรจะได้จากการประกอบกิจการเป็นเงิน 5,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น7,840,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 7,840,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 มิใช่จ้างจำเลยที่ 2 จึงไม่สำคัญผิดและไม่มีการหลอกลวงหรือทำกลฉ้อฉลจำเลยที่ 1 มีความรู้ความสามารถ ทำหน้าที่ตามสัญญาเป็นประโยชน์ต่อโจทก์ตลอดมา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นให้เรียกโจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 1 สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์สำนวนหลังว่า จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 280,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2533ถึงวันฟ้องดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 7,000 บาท ชำระเงิน 280,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม2533 ถึงวันฟ้องดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 5,250 บาท ชำระเงิน 280,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน2533 ถึงวันฟ้องดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 3,500 บาท ชำระเงิน 280,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2533 ถึงวันฟ้องดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 1,750 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และให้ชำระเงินค่าจ้างอีก 840,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,960,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 19813/2533 ของศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อเดือนกันยายน 2532 จำเลยประสงค์จะก่อสร้างอาคารโรงแรมหลังใหม่เพิ่มเติมจากเดิมมีผู้แนะนำให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยรู้จักกับโจทก์ที่ 2 แล้วจำเลยได้ลงนามว่าจ้างบริษัทโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีโจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจให้เป็นที่ปรึกษาโครงการ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆียะหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าแม้สัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระบุชัดแจ้งว่า โจทก์ที่ 1 เป็นคู่สัญญามิใช่โจทก์ที่ 2 แต่เจตนาในขณะที่เจรจาตกลงทำสัญญาเอกสารหมาย ล.5 นั้น จำเลยมีความประสงค์ทำสัญญากับโจทก์ที่ 2 ดังนั้น คุณสมบัติในตัวโจทก์ที่ 2 จึงเป็นสาระสำคัญนั้น เห็นว่าในการที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลก็โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของบุคลากร ในบริษัทเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทโจทก์ที่ 1 เพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 แสดงว่าขณะที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง ดังนั้นจึงเชื่อว่าการที่จำเลยทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 เนื่องจากเชื่อในความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 1 และเป็นผู้ที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยตามสัญญา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยสำคัญผิดในคุณสมบัติของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้แจ้งประวัติของโจทก์ที่ 2 ให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยทราบตามเอกสารหมาย ล.3 แสดงว่าการที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ที่ 1 เพราะเชื่อในความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของโจทก์ที่ 2 แต่เมื่อพิจารณาประวัติของโจทก์ที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.3แล้ว โจทก์ที่ 2 มีการศึกษาระดับ O (โอ) จากวิทยาลัยว่ายานฮ่องกงจี.ซี.อี. มีความรู้ความภาษาเซี่ยงไฮ้ จีนกลาง กวางตุ้ง และภาษาอังกฤษ มีประสบการณ์ด้านโรงแรมและการท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นผู้จัดการโรงแรมอายุน้อยที่สุดของฮ่องกง ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรและสถาปัตยกรรมนั้นถ้าหากว่าจำเลยตรวจดูคุณสมบัติของโจทก์ที่ 2 ตามประวัติเอกสารหมายล.3 แล้ว จะเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 2 ไม่เคยแจ้งหรืออ้างว่ามีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมเลย ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าการที่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 1 เกิดจากความสำคัญผิดในคุณสมบัติของโจทก์ที่ 2 ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม สัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 จึงสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 120 (เดิม) (มาตรา 157 ที่แก้ไขใหม่) ส่วนที่โจทก์ที่ 2ยังมิได้รับอนุญาตจากกรมแรงงานให้ทำงานในประเทศไทย มิใช่คุณสมบัติที่ปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจอ้างเป็นเหตุให้นิติกรรมเป็นโมฆียะได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญา
พิพากษายืน

Share