คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8438/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์มีใจความว่า ข้อ 2. ป.ยินยอมชดใช้เงินจำนวน 40,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ ข้อ 3.ป.จะจ่ายเงินจำนวน 40,000,000 บาทให้แก่โจทก์ เมื่อ ป. สามารถขายที่ดินโฉนดที่ 3837หรือที่ดินโฉนดเลขที่ 4211 ได้และได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว หนี้ที่ ป.จะต้องชำระแก่โจทก์เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.ส่วนข้อกำหนดที่ว่าจะชำระหนี้ต่อเมื่อขายที่ดินได้และได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว เป็นเพียงข้อกำหนดในนิติกรรมอย่างหนึ่งอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรมจึงมิใช่ เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 เดิมและถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้เมื่อป.ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้จัดการมรดกของ ป. ให้ชำระหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบุตรของนายประสาน แสงพิทักษ์และนางสมใจ แสงพิทักษ์ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4546 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2523โจทก์กับนายตีเกี๊ย แซ่ซื้อ ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8509จากนางทองอยู่ โอฐยิ้มพราย โดยโจทก์กับพวกจะต้องยกที่ดินยางแปลงให้ผู้จะขาย และชำระเงินอีก 458,000 บาทโจทก์ยืมเงินจากนางสมใจ 1,000,000 บาท มาชำระค่าที่ดินและใส่ชื่อนางสมใจเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8509 แทน โจทก์นำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาจัดสรรขายให้บุคคลทั่วไป โดยแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย ๆ ในนามผู้ถือกรรมสิทธิ์และมีส่วนที่เป็นถนนตามโครงการอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8509 สำหรับที่ดินที่ขายได้ โจทก์ให้นางสมใจเป็นผู้เก็บเงินจากลูกค้า มีข้อตกลงว่าเมื่อนางสมใจได้รับเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยคืนครบถ้วนแล้ว จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่เหลือจากการขายและส่วนที่เป็นถนนให้โจทก์แต่นางสมใจหาได้โอนที่ดินคืนโจทก์ไม่ และประวิงเวลาเรื่อยมาจนกระทั่งนางสมใจถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2533ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้นายประสานเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมใจ โจทก์ได้เจรจากับนายประสานถึงความเสียหายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้รับจากการกระทำของนางสมใจ กับนายประสานในช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ตลอดจนความเสียหายที่โจทก์ไม่สามารถซื้อที่ดินข้างเคียงเพื่อนำมาจัดสรรเพราะไม่มีทางออก อันเนื่องมาจากความผิดของบุคคลทั้งสอง ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2534 นายประสานในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการของนางสมใจยอมรับว่าทำให้โจทก์เสียหายและตกลงทำหนังสือประนีประนอมยอมความจะชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 400,000 บาท แต่ขอเวลาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3837 หรือโฉนดเลขที่ 4211 ให้ได้เสียก่อน แต่ยังไม่ทันได้ขาย นายประสานก็ถึงแก่ความตายจำเลยซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมายของบุคคลทั้งสองไม่ยินยอมดำเนินการโอนขายที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และมิได้กระทำการใด ๆเพื่อให้โจทก์ได้รับเงิน ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประสานใช้หนี้โจทก์(จากกองมรดกของนางสมใจและนายประสาน)เป็นเงิน40,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน
จำเลยให้การว่า บันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่โจทก์นำมาฟ้องระบุว่า นายประสานกระทำในฐานะส่วนตัวไม่มีผลผูกพันกองมรดกของนางสมใจ เงื่อนไขของสัญญาก็ไม่มีทางบรรลุผล เนื่องจากนายประสานมิใช่เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3837 ไม่สามารถขายที่ดินนั้นได้เชื่อว่ามีการปลอมแปลงลายมือชื่อของนายประสาน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกนายกมลสิงห์ แสงพิทักษ์นางสาวกมลศรี แสงพิทักษ์นายกมลเลิศ แสงพิทักษ์ และนายกมลสิน แสงพิทักษ์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามคำร้องขอของโจทก์
จำเลยร่วมทั้งสี่ให้การว่า นายประสานมิได้ทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความ แม้นายประสานทำจริงก็เป็นการกระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมใจไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว และเป็นนิติกรรมซึ่งมีเงื่อนไขที่มิอาจจะสำเร็จได้เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 3837 เป็นของนางสาวสมนึก ลี้ตระกูล จึงเป็นโมฆะไม่อาจใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม บันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความตามฟ้องเป็นสัญญาที่นายประสานทำและบังคับได้ แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน เมื่อยังไม่มีการขายที่ดินตามเงื่อนไข โจทก์จะมาฟ้องบังคับให้ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2534 นายประสานทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.24นายประสานถึงแก่ความตายวันที่ 3 ธันวาคม 2534โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 2 ธันวาคม 2535 สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.24 ข้อ 2. และ 3. มีใจความว่า “2. ข้าพเจ้านายประสาน แสงพิทักษ์ ยินยอมชดใช้เงินจำนวน 40,000,000 บาท(สี่สิบล้านบาท) ให้แก่ ร.ท.ศักดา คำวชิรพิทักษ์ 3. ข้าพเจ้านายประสาน แสงพิทักษ์ จะจ่ายเงินจำนวน 40,000,000 บาท(สี่สิบล้านบาท) ให้กับ ร.ท.ศักดา คำวชิรพิทักษ์ เมื่อข้าพเจ้าสามารถขายที่ดินโฉนดที่ 3837 ตำบลถนนพญาไท อำเภอดุสิตกรุงเทพมหานคร พร้อมที่ดินบริเวณติดต่อกันอันเป็นที่ตั้งของโรงแรมรัตนพิทักษ์ (55) หรือที่ดินโฉนดที่ 4211ตำบลหนองแขม อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครได้และได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว” คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ข้อกำหนดที่ว่าจะชดใช้เงินเมื่อขายที่ดินและได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว เป็นข้อกำหนดที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนเมื่อยังไม่มีการขายที่ดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วมหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า หนี้ที่นายประสานจะต้องชำระแก่โจทก์เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2. ส่วนข้อกำหนดที่ว่าจะชำระหนี้ต่อเมื่อขายที่ดินได้และได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว เป็นเพียงข้อกำหนดในนิติกรรมอย่างหนึ่งอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม ดังนี้ข้อกำหนดดังกล่าวจึงมิใช่เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 144 เดิม (มาตรา 182 ที่แก้ไขใหม่) และถือได้ว่าหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยและจำเลยร่วมให้ชำระหนี้ได้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่เหลือต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่

Share