คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้สลักหลังเช็ค จ่ายเงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรงไปแล้วเพราะไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้ ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้สั่งจ่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องกล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2496 จำเลยทั้งสองขอให้โจทก์จ่ายเงิน 35,000 บาทให้ก่อน โจทก์จึงจ่ายให้แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คให้ 2 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 เซ็นสลักหลัง ดังสำเนาท้ายฟ้อง

ครั้นถึงวันกำหนดในเช็ค โจทก์นำเช็คสองฉบับไปขอเบิกเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด ๆ ไม่จ่ายเงินให้เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินในธนาคารพอที่จะจ่ายให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยใช้เงิน 35,000 บาทให้แก่โจทก์ และเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้เสร็จ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้เซ็นชื่อหลังเช็คที่โจทก์ฟ้องจริง แต่จำเลยที่ 1 คนเดียวเป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์ ขอให้โจทก์เร่งรัดเอาชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ก่อน ขาดเหลือเท่าใดจำเลยที่ 2 ชำระให้จนครบ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยขอให้โจทก์จ่ายเงินและไม่เคยได้รับเงิน 35,000 บาทไปจากโจทก์เลย เช็คที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยมิได้ออกให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จ่ายเช็คสองฉบับนั้นให้จำเลยที่ 2 ยืมไปเพื่อให้เจ้าหนี้ยึดไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 2 รับรองว่าจะคืนเช็คให้แก่จำเลยที่ 1 แต่แล้วก็ไม่คืนให้และฟ้องแย้งว่า โจทก์ออกเช็คธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ 10,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คนำเช็คมาขึ้นเอาเงินไปจากจำเลยที่ 1 จำเลยขอยืมเงิน นายกีเส่งให้จำเลยที่ 2 ไป 10,000 บาทต่อมาได้นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร แต่โจทก์ไม่มีเงินในธนาคาร จึงยังไม่ได้รับเงินตามเช็ค ขอให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 10,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี

จำเลยที่ 2 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองคนได้ขอยืมเช็คสั่งจ่ายเงินหนึ่งหมื่นบาทของโจทก์มาเพื่อเป็นหลักฐานในการค้าชั่วคราวแล้วจะคืนให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้จ่ายเงินหมื่นบาทให้แก่ใครเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนค้าขายกันได้มาขอยืมเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้าของโจทก์ 10,000 บาทโจทก์ได้จ่ายเช็คล่วงหน้าให้จำเลย 10,000 บาท โดยสั่งจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ทำหลักฐานยืมไว้ที่ต้นขั้วเช็ค ต่อมาจำเลยไม่คืนเช็คให้แก่โจทก์ โดยบอกว่าหาไม่พบ

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองคนร่วมกันใช้เงิน35,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าใช้เสร็จ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เสีย

จำเลยที่ 1 ผู้เดียว อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คงพิพากษายืน

จำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาฟังคำแถลงทั้งสองฝ่ายแล้ว ได้ความในทางพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองเกี่ยวเป็นญาติ และเป็นหุ้นส่วนทำลังบรรจุขวดโคคาโคล่าโจทก์สืบพยานว่า ก่อนนี้จำเลยเคยยืมเงินโจทก์โดยวิธีแลกเช็คหลายครั้ง ๆ นี้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2496 จำเลยทั้งสองนำเช็ค 2 ฉบับ มาขอแลกจำนวนเงิน35,000 บาท เช็คฉบับ 1 จำนวน 5,000 บาทลงวันที่ 15 กันยายน 2496 อีกฉบับหนึ่ง จำนวน 30,000 บาทลงวันที่ 1 ตุลาคม 2496 โจทก์จ่ายเงินให้34,500 บาท ก่อนถึงกำหนดวันในเช็ค จำเลยมาขอผลัดหลายครั้ง จนในที่สุดโจทก์นำเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคารไม่ได้

จำเลยที่ 1 สืบแก้ว่า ไม่เคยรู้จักโจทก์มาก่อน เพิ่งรู้จักในวันนำเช็คมาทวงเงิน เช็คจำนวน 5,000 บาทนั้น จำเลยที่ 2 ยืมจำเลยเพื่อเอาไปให้เจ้าหนี้ยึดแทนเช็คจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีเงิน ส่วนเช็คฉบับ 30,000 บาทนั้น จำเลยที่ 2ก็ยืมไปเพื่อเปลี่ยนกับเช็คเก่าซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้ไว้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามเช็ค 2 ฉบับเลย

ส่วนเช็คฉบับ 10,000 บาทของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งนั้นจำเลยที่ 1สืบพยานว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2496 จำเลยที่ 2 นำเช็คฉบับนี้มาขอแลกเงินจำเลยไม่มีเงินจึงสลักหลังให้นายกีเส่ง ๆ จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มอบเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปครั้นแล้วนายกีเส่งนำเช็คมาคืนว่า ไปเบิกเงินไม่ได้จำเลยจึงจ่ายเงินให้นายกีเส่งไป จำเลยเคยทวงเงินตามเช็คฉบับนี้จากจำเลยที่ 2แต่ไม่เคยทวงจากโจทก์

ฝ่ายโจทก์สืบแก้ว่า จำเลยทั้งสองมาขอยืมเงินโจทก์ 10,000 บาทโจทก์ว่าเงินในธนาคารมีไม่พอ จำเลยจึงยืมเช็คเพื่อไปวางประกันการซื้อไม้โจทก์จึงออกเช็คให้ไป โดยให้จำเลยที่ 2 เซ็นรับเช็คไว้หลังต้นขั้วเช็ค ถึงกำหนดโจทก์ไปทวงเช็คจากจำเลยที่ 1 ๆ ว่าเช็คหาย

ในเรื่องเช็ค 2 ฉบับ ที่โจทก์ฟ้องนี้ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดจำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์แตกต่างกันในการเขียนเช็คและจ่ายเงินมากไม่น่าเชื่อ ศาลนี้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำพยานมีแตกกันบ้างแต่ก็ไม่สำคัญถึงแก่ให้เชื่อว่าโจทก์มิได้จ่ายเงินแก่จำเลยส่วนที่จำเลยฎีกาว่าเช็ค 2 ฉบับนี้ เลขลำดับห่างกันถึง 7-8 ฉบับไม่น่าเชื่อ จำเลยได้ออกให้โจทก์ในคราวเดียวกันดังที่โจทก์นำสืบนั้น พิจารณาเห็นว่าการที่เลขลำดับเช็คห่างกันมากเช่นนี้ ย่อมแล้วแต่จำเลยผู้ออกเช็คจะเลือกใช้ หรือจำเลยอาจเห็นว่า ระยะเวลาชำระเงินห่างกันอาจใช้เช็คให้ผิดกันหลายลำดับเลขก็ได้ อย่างไรก็ดีเหตุนี้ไม่เป็นข้อให้สันนิษฐานเด็ดขาดว่า เช็ค 2 ฉบับนี้ มิได้ออกในคราวเดียวกัน เมื่อเช็คจำเลยตกอยู่แก่โจทก์และจำเลยสืบหักล้างไม่ได้ จำเลยก็ต้องรับผิด

ในเรื่องเช็คฉบับ 10,000 บาท ที่จำเลยฟ้องแย้งนี้ เป็นเช็คโจทก์ออกให้จำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 2 สืบว่า จำเลยทั้งสองยืมโจทก์มา และจำเลยที่ 2 เซ็นนามไว้ในต้นขั้วเช็คด้วย โดยไม่ได้ให้เงินโจทก์และก่อนหน้านี้จำเลยก็เคยยืมแล้วนำมาคืน ซึ่งฝ่ายจำเลยที่ 1 สืบปฏิเสธว่าไม่ได้ยืมและสืบว่า ได้จ่ายเงินตามเช็คนี้ให้นายกีเส่งไป

พิจารณาประเด็นนี้แล้ว เห็นว่า เช็คฉบับนี้โจทก์เป็นผู้ออกหน้าที่โจทก์จะต้องสืบให้ชัดถึงเหตุที่ออก โจทก์ว่า ออกไปเพราะจำเลยยืม และจำเลยที่ 2 ก็รับว่ายืมจริง ทั้งได้เซ็นไว้ในต้นขั้วเช็คด้วยว่ายืม แต่พึงระลึกว่า แม้จำเลยทั้งสองจะเกี่ยวเป็นญาติและเป็นหุ้นส่วนกันทางพิจารณาก็ปรากฏว่า เกิดแตกร้าวกันในเรื่องทรัพย์อย่างมากถึงแก่ต้องเลิกหุ้นส่วนกัน จะฟังคำจำเลยที่ 2 เป็นประมาณนักย่อมไม่ได้ ส่วนโจทก์นั้นก็ปรากฏว่า เคยใช้เช็คแลกเงินเป็นปกติ ไฉนจึงปล่อยให้เช็คของตนไปตกอยู่ในมือผู้อื่นเป็นเวลาช้านาน โดยมิได้จัดการบอกล้างหรือแจ้งความอย่างใด เมื่อจำเลยผู้สลักหลังสืบได้ว่าตนได้จ่ายเงินไปเพราะเช็คของโจทก์เช่นนี้ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยจากโจทก์ผู้เจ้าของเช็ค และจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเช็คคนแรกได้

เหตุนี้จึงพิพากษาแก้เฉพาะที่จำเลยฟ้องแย้งเป็นให้โจทก์และจำเลยที่ 2ร่วมกันรับผิดใช้เงิน 10,000 แก่จำเลยที่ 1 กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี แต่วันฟ้องแย้ง ให้จำเลยทั้งสองเสียค่าธรรมเนียมทั้ง 3 ศาล แทนโจทก์กึ่งหนึ่งกับค่าทนาย 500 บาท

Share