คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6227/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายไว้ในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์ว่าจำเลยแข่งรถโดยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางแข่งกับรถอื่น และเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ พร้อมรถจักรยานยนต์ดังกล่าว ซึ่งจำเลยได้ใช้ ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง โดยโจทก์ได้อ้าง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และมีคำขอให้ริบ รถจักรยานยนต์ของกลางด้วย เมื่อโจทก์ยื่นบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาในบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ คำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 20 ซึ่งเป็น แบบพิมพ์ของศาล แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้บันทึกข้อที่โจทก์ขอให้ริบทรัพย์ไว้ด้วย ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจบันทึกไว้เท่าที่เห็นว่าจำเป็น กรณีถือได้ว่าบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาที่โจทก์ยื่นต่อศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งบันทึกคำฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของศาลจึงไม่เป็นเหตุให้ฟ้องบกพร่องถึงกับจะถือว่าโจทก์ไม่ได้ขอให้ริบของกลาง จำเลยแข่งรถโดยใช้รถจักรยานยนต์แข่งกับรถอื่นในทางสาธารณโดยไม่ได้รับอนุญาต รถจักรยานยนต์ จึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 จะไม่มีข้อบัญญัติให้ริบทรัพย์ดังกล่าว ศาลก็มีอำนาจริบรถจักรยานยนต์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17,33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจร โดยจำเลยขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน (เครื่อง) เค อาร์ 150 ซีอีเอ 22583แข่งขันกับรถอื่นจากสะพานพระราม 7 มุ่งหน้าแยกวงศ์สว่างด้วยความเร็วสูง ลักษณะน่าหวาดเสียวอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น และในวันเวลาดังกล่าว จำเลยโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนวงศ์สว่างอันเป็นทางสาธารณะ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 134, 157,160 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535มาตรา 16, 27, 31 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2533มาตรา 42, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 33ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องรับลดกึ่งเรียงกระทงลงโทษฐานแข่งรถ จำคุก 1 เดือนปรับ 5,000 บาทฐานไม่มีใบอนุญาตขับรถ ปรับ 500 บาท รวมโทษจำคุก 1 เดือนปรับ 4,500 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปีคุมประพฤติจำเลยโดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ3 เดือนครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังรถจักรยานยนต์ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลจะริบรถจักรยานยนต์ของกลางไม่ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าในกรณีแข่งรถเช่นนี้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 ทวิ บัญญัติโทษไว้เป็นพิเศษคือให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ โดยมิได้บัญญัติให้ริบรถที่ใช้แข่ง และโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายที่จะขอให้ริบทรัพย์ศาลจึงริบรถจักรยานยนต์ของกลางไม่ได้ในปัญหานี้โจทก์บรรยายไว้ในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์ว่าจำเลยแข่งรถโดยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางแข่งกับรถอื่นและเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลางโจทก์ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 อันเป็นบทบัญญัติเรื่องริบทรัพย์ และมีคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางด้วยเมื่อโจทก์ยื่นบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นได้บันทึกคำฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาในบันทึกคำฟ้องคำรับสารภาพ คำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯมาตรา 20 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของศาล อันเป็นการบันทึกคำฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 20 แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้บันทึกข้อที่โจทก์ขอให้ริบทรัพย์ไว้ด้วย ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจบันทึกไว้เท่าที่เห็นว่าจำเป็นกรณีถือได้ว่าบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาที่โจทก์ยื่นต่อศาลชั้นต้นได้ขอให้ริบของกลางไว้แล้วนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งบันทึกคำฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของศาล จึงไม่เป็นเหตุให้ฟ้องบกพร่องถึงกับจะถือว่าโจทก์ไม่ได้ขอให้ริบของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงก็รับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ฟ้องว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522จะไม่มีข้อบัญญัติให้ริบทรัพย์ดังกล่าว ศาลก็มีอำนาจสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17, 33(1) ที่ศาลล่างสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลางชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share