คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์แม้จำเลยที่ 1 จะใช้อาคารพิพาทชั้นล่างเพื่อประโยชน์แห่งการค้า ส่วนชั้นบนเป็นที่พักอาศัย เมื่ออาคารพิพาทตั้งอยู่ริมถนนซึ่งปกติเป็นอาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์แห่งการค้า ถือได้ว่าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม จึงเป็นอาคารพาณิชย์ซึ่งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้บันไดสำหรับอาคารพาณิชย์ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ฉะนั้น การลดความกว้างของบันไดจึงขัดต่อข้อบัญญัติดังกล่าว
จำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องกัน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ก่อสร้างอาคารพิพาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยินยอมให้ก่อสร้าง จำเลยทั้งสองจึงเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารพิพาท เมื่อผู้อำนวยการเขตได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามแบบแปลน และมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ย่อมถือได้ว่ามีคำสั่งแจ้งให้จำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารทราบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
การก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งไม่ขัดต่อกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือขัดแต่ยังสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือสั่งให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดำเนินการ ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้แล้วแต่กรณี ดังนั้น การที่ผู้อำนวยการเขตได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องเกี่ยวกับระยะช่วงเสาอาคารด้านหน้าและระยะช่วงเสาอาคารด้านหลัง ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างแล้ว แต่จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งมิได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงร้องขอต่อศาลให้บังคับให้รื้อถอนได้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 43 วรรคท้าย

Share